เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ยังไงก่อน? ผ่างบ ก.อุดมศึกษา ปี 63-66 ฉายภาพเหลื่อมล้ำ การศึกษาไทย

เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่จริง! ผ่างบมหาวิทยาลัยปี 66 ที่ได้จากกระทรวงอุดมศึกษา ฉายภาพความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของประเทศไทย

เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จริงหรือ?

ตอนนี้มีประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียง (เคยมีมาก่อน และเชื่อว่าจะมีต่อไปอีกทุกๆ ปี) อย่าง “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” ซึ่งเอาเข้าจริง นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นและเราอยากให้เป็น แต่พูดกันแบบตรงไปตรงมาให้เห็นถึงปัญหา ต้องบอกเลยว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกันอาจไม่จริงในประเทศไทย

ในกรณีของประเทศไทยเองต้องบอกว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่าง กทม. และ ต่างจังหวัดอย่างมาก และในต่างจังหวัดเองก็มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหัวเมืองและเมืองรอง ส่วนในแต่ละจังหวัดก็จะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างในเมืองและชนบทอีก และความเหลื่อมล้ำก็สะท้อนออกมาในรูปของ งบประมาณที่สถานศึกษาแต่ละที่จะได้รับ

หลายท่านอาจจะอ้างว่าอย่างในสหรัฐฯ เองก็มีไอวีลีกและมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯ คือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ที่สำคัญเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอเมริกันเช่นกัน 

Flags of the Ivy League fly at Columbia’s Wien Stadium.

ประเด็นคือโลกเรากว้างกว่าแค่อเมริกา เราอาจลองมองดูกรณีศึกษาในยุโรป แน่นอนว่า ม.ดัง ก็มีอยู่ แต่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ดังน้อยกว่าก็ไม่ได้เหลื่อมล้ำจนน่าเกลียด และมีการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม ‘มากกว่าเก่า’ อยู่เนืองๆ

งบมหาวิทยาลัยที่เหลื่อมล้ำ มีอยู่จริง

คำถามคือ แล้วงบที่แตกต่างกันสำคัญแค่ไหน? บอกเลยว่าสำคัญมากเพราะงบที่ได้รับหมายถึงอาจารย์ระดับหัวกะทิ อาจารย์เจ้าของภาษา ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ห้องสมุดที่มีตำราระดับสากล สื่อการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการศึกษา กิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะ

การพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาออกมาแบบตรงๆ ไม่ใช่การตีตราหรือแบ่งแยกชนชั้น แต่ช่วยชี้ให้เห็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ปลอบใจว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกันและละเลยความเหลื่อมล้ำที่ใครๆ ก็เห็นอยู่ตำตา

ถ้าลองดูในงบประมาณที่แต่ละมหาวิทยาลัยย้อนไปสัก 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (งบก้อนที่กำลังจะอนุมัติในปัจจุบัน) จะพบว่างบประมาณที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับเหลื่อมล้ำกันพอสมควร เช่นในปี 2566

  • มหาวิทยาลัยชื่อคุ้นหู เช่น จุฬา มธ. มช. มข. มอ. เกษตร ได้รับงบประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท
  • มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับงบเกือบ 14,000 ล้านบาท

ส่วน มหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏ ที่มี 38 แห่งทั่วประเทศ พูดได้ว่าเป็นทางเลือกทางการศึกษาที่ใกล้ตัวกับคนทั้งประเทศ (ไม่ใช่แค่กรุงเทพหรือหัวเมือง) ได้รับงบเฉลี่ยประมาณที่ละ 475 ล้านบาท เท่านั้น พูดง่ายๆ คือ

  • ได้รับงบแค่ 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยดังๆ
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏ 29 แห่ง รวมกัน ได้รับงบพอๆ กับม.มหิดล ที่เดียว

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คือมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏที่ได้งบมากที่สุด แต่ก็ยังได้เพียง 770 ล้านบาท

แล้วมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้รับงบแค่ไหน

ปี 2563 – 2566 ตามเอกสารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ 2566 มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย (ยกมาเพียงบางส่วน) ได้รับงบประมาณ ดังนี้

(หน่วย: ล้านบาท)

มหาวิทยาลัย/งบ

ปี 63

ปี 64

ปี 65

ปี 66

มหิดล 12,023 13,131 13,170 13,857
เชียงใหม่ 5,559 5,467 5,788 5,788
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5,059 5,190 5,249 5,248
สงขลานครินทร์ 5,808 5,598 5,186 5,185
เกษตรศาสตร์ 4,932 5,119 5,032 5,077
ขอนแก่น 5,271 5,336 5,001 5,001
ธรรมศาสตร์ 4,463 4,846 4,672 4,782
แม่ฟ้าหลวง 2,069 1,932 1,890 1,890
แม่โจ้ 1,514 1,438 1,407 1,406
สวนดุสิต 982 1,020 1,044 1,044
ราชภัฏสวนสุนันทา 744 747 770 769
ราชภัฏสุราษฎร์ธานี 743 705 704 704
ราชภัฏเชียงใหม่ 651 678 674 673

สรุป

ทีนี้ลองนึกภาพว่าเราส่งเด็ก 2 คน ที่มีศักยภาพเท่ากันพยายามหนักเท่ากัน เข้าสู่สถานศึกษาที่ได้รับงบต่างกันอย่างมาก แล้วลองตอบตัวเองในใจแบบไม่หลอกตัวเองว่าผลลัพธ์บั้นปลายจะเป็นอย่างไร

หรือหากจะบอกว่า ในบางกรณี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณน้อยมากก็สามารถจบมาเก่งเทียบเท่าหรือมากกว่าเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นั่นคือเรื่องน่าชื่นชม 

แต่ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายเพราะความเหลื่อมล้ำก็คือ พวกเขาต้องพยายามแบบเลือดตากระเด็นจนต้องสูญเสียโอกาสด้านอื่นๆ ไป ในขณะที่เด็กจากมหาวิทยาลัยไม่ต้องพยายามขนาดนั้น

ที่มา – งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 3 (1) และ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เล่มที่ 3 (1) โดย สำนักงบประมาณ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา