เป็นอีกครั้งที่ True และ dtac ตั้งโต๊ะแถลงเรื่องการควบรวมกิจการ ซึ่งดูเหมือนจะมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจาก กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนออกมา แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ร่วมกันสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ โดยสรุปได้ดังนี้
ควบรวม ไม่ใช่ ซื้อกิจการ สามารถทำได้ กฎหมายไม่ห้าม
ดีลระหว่าง True-dtac ไม่ใช่การซื้อกิจการ แต่เป็นการ “ควบรวม” ที่สามารถทำได้ ไม่ใช่การซื้อกิจการ โดยทั้งสองฝ่ายยังคงถือหุ้นในบริษัทใหม่ ประมาณ 30% ทั้องสองฝ่าย ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่
ที่ผ่านมาได้เสนอผู้ถือหุ้นทั้ง True-dtac เพื่อขอความเห็น ซึ่งเกินกว่า 90% ให้ความเห็นชอบ และทำการศึกษารายละเอียดการควบรวมไปเกือบ 100% แล้ว ติดแค่ขั้นตอนการกำกับดูแลจาก กสทช. เท่านั้น
True-dtac ได้ยื่น Filling พร้อมด้วยแผนธุรกิจและข้อมูลทุกอย่างไปตั้งแต่ 25 ม.ค. 65 ตามระเบียบของ กลต, ตลาดหลักทรัพย์และ กสทช. ซึ่งควรจะได้ข้อสรุปตั้งแต่ พ.ค. 65 แต่ที่ติดขัดคือ เงื่อนไขการควบรวมจาก กสทช.
กสทช. ไม่มีอำนาจยับยั้ง ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขการควบรวม
ตามกฎหมาย การควบรวมไม่ได้เป็นข้อห้าม ไม่ต้องรอการอนุมัติ แต่ กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข เพื่อลดผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้น และสร้างผลประโยชน์ในทางบวก ซึ่ง True-dtac พร้อมให้ความร่วมมือ และให้ดีลจบโดยเร็ว
พิจารณาจากในอดีต การควบรวมเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การควบรวมระหว่าง TOT-CAT กลายเป็น NT ในปัจจุบัน เป็นการทำเพื่อปรับตัว เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่แตกต่างจากดีลของ AIS-3BB ที่เป็นการซื้อกิจการ คือ เหลือผู้ถือหุ้นเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงถือเป็นคนละกรณี
ไม่ได้กดดัน แต่ควรได้ข้อสรุป ก.ย. นี้เพื่อเดินหน้าต่อ
True-dtac คาดว่า จะได้ข้อสรุปเงื่อนไขการควบรวมจาก กสทช. ภายในเดือน ก.ย. 65 เพื่อเดินหน้าการควบรวมต่อไป ซึ่งหาก กสทช. จะยับยั้งการควบรวมนี้จริง ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แต่ไม่ได้ต้องการให้อุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้น
ศุภชัย มองว่า ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมโดน Disrupt กันทั้งหมด ธนาคารไทยต้องแข่งขันกับ FinTech ทั่วโลก, Digital TV ของไทย ต้องแข่งกับ Digital Media อย่าง Netfilx และ Disney+ ดังนั้น การควบรวม True-dtac จึงเป็นการรวมตัวเพื่อให้แข็งแกร่งขึ้นและแข่งขันในตลาดได้
ดังนั้น ถ้าผู้ให้บริการโทรคมจะลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย การแข่งขันก็ไม่ได้ลดลง ค่าบริการไม่ได้แพงขึ้น เพราะ กสทช. ยังควบคุมราคา และยังมีกลไกตลาดอยู่ ในทางกลับกัน การมีผู้เล่น 2 รายที่แข็งแกร่ง น่าจะทำให้การแข่งขันมากขึ้นด้วย
ซิคเว่ เชื่อบริษัทใหม่ สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมและประเทศไทยโดยรวม
ด้านซิคเว่ บอกว่า การร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย จะเกิดบริการใหม่ๆ ที่หลากหลายในราคาที่เหมาะสม การลงทุนไม่ซ้ำซ้อน มีเครือข่ายที่ครอบคลุม มีคุณภาพเพื่อให้บริการ ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม-เทคโนโลยี โดยการรวมพลังของ 5G IoT AI เพื่อพัฒนาประเทศไทย
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อินโดนีเซียและสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสตาร์ทอัพ แต่ประเทศไทยกลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาเลเซียและเวียดนาม โดยเป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาค มีการลงทุนสูงสุดในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564 แต่ส่วนแบ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 3% ในปี 2564 ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการลงทุนเพิ่มขึ้น
หนึ่งในแนวทางสนับสนุนคือ การจัดตั้งกองทุน Venture Capital Funding คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 7,300 ล้านบาท (200 ล้านเหรียญ) เป็นการผสานจุดแข็งของ CP Group และ Telenor Group เข้าด้วยกัน ซึ่งมีโอกาสสร้างความมั่นใจ และดึงเงินทุนอื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วมได้
อ่านความเห็นเพิ่มเติมของซิคเว่ ที่นี่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา