ในที่สุด เงินบาทก็อ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.45-36.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.85-36.73 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนเงินยูโรและเงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และ 24 ปีตามลำดับ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI คือตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ) ทั่วไปเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเกินคาดที่ 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 41 ปี
ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 100bp ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งดอลลาร์ลดช่วงบวกท้ายสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรขณะที่เจ้าหน้าที่ FED ส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 75bp มากกว่า 100bp สำหรับรอบนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นพันธบัตรไทยสุทธิ 1,141 ล้านบาท และ 1,742 ล้านบาทตามลำดับ
กรุงศรีมองว่า ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ซึ่งภาวะปัจจุบันนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp อาจไม่เพียงพอที่จะกดการคาดการณ์เงินเฟ้อลง อีกทั้งเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแข็งกร้าวและต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ย 100bp ในการประชุมรอบล่าสุด นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาต้นทุนการกู้ยืมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิก ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลีเป็นปัจจัยถ่วงค่าเงินยุโรป
กรุงศรีประเมินว่า ราคาสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ค่าเงิน หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวผันผวนต่อเนื่องขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเฟดยังคุมเข้มนโยบายในอีกหลายเดือนข้างหน้าแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งเงินดอลลาร์อาจกลับมาอ่อนค่าได้หากตัวเลขเศรษฐกิจและการคาดการณ์ของผู้ร่วมตลาดต่อการดำเนินนโยบายของเฟดเริ่มเปลี่ยนไป
ที่มา – Krungsri Commentary: Weekly Report
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา