Telenor ยืนยัน ควบรวท dtac-Trueเพื่อสู้เบอร์ 1 ของตลาดอย่าง AIS พร้อมย้ำว่า 2 รายแข็งแกร่งสู้กัน ดีกว่าปล่อยให้ 1 รายที่แข็งแกร่งครองตลาดโทรคมนาคม
เทเลนอร์เอเชีย และดีแทค จัดงานอภิปรายฉลองครบรอบ 25 ปี เอเชียในฐานะหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค นายซิคเว่ เบรคเก้, President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป และนายเยอเก้น โรสทริป, EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป ในประเด็นก้าวต่อไปของเทเลนอร์ในการสร้างบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
ประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในงานนี้ คือการย้ำว่าจากการที่ “ดีแทค” หนึ่งในบริษัทที่เทเลนอร์ถือหุ้นได้ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) กับทรูนั้น ไม่ได้หมายความว่าเทเลนอร์ยังไม่ได้ทิ้งการดำเนินธุรกิจในเอเชีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทย และที่สำคัญคือยังมองไปในอีก 20 ปีข้างหน้า
นายซิคเว่ เบรคเก้ กล่าวว่า “เมื่อเทเลนอร์เข้าสู่ตลาดไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วิสัยทัศน์ของบริษัทคือคนไทยทุกคนควรเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและสามารถซื้อได้ เทเลนอร์รุกที่เปลี่ยนแปลงตลาดต่างๆ เช่น การคิดค่าบริการเป็นวินาที และการตลาดและการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถหาซื้อใช้จ่ายได้ ทุกวันนี้ การเข้าถึงของโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 86% และมีการเชื่อมต่อมือถือ 98.5 ล้านอุปกรณ์ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การเติบโต 1.0 หรือ Growth 1.0 ในประเทศไทย”
ประเด็นสำคัญของการควบรวมในครั้งนี้ คือการที่ทางเทเลนอร์มีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัท Tech-Telecom ที่พร้อมจะสร้าง Growth 2.0 ให้เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทและประเทศไทยสามารถเติบโตไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, AI หรือ IoT ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
นายซิคเว่ระบุอีกว่า ความสำคัญของการเติบโตรูปแบบนี้คือจะสามารถสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ เช่น ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปกับการสร้างโรงงานอัตโนมัติ ท่าเรืออัตโนมัติ บริการทางการแพทย์ ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านความมั่นคง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดการแข่งขันที่มากพอในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และมีงบประมาณในการลงทุนที่มากพอ
อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์ชี้ว่าภูมิทัศน์การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยมีลักษณะที่มีผู้เล่น 1 รายแข็งแกร่งส่วนอีก 2 รายอ่อนแอ ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง จึงต้องมีการสร้าง ‘ความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน’ ระหว่างดีแทคและทรูขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลงทุนสร้างนวัตกรรม และทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้เล่น 2 รายที่แข็งแกร่งทัดเทียมกัน
นายซิคเว่ย้ำว่า สิ่งที่เราและเครือ CP พยายามทำอยู่ คือการสร้างบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมบริษัทใหม่ไม่ใช่ทั้งดีแทคและทรู โดยจะนำส่วนดีของทั้งสองมาปรับใช้ ซึ่งจะพยายามวางตัวในการแข่งขันเพื่อนำมาซึ่ง Growth 2.0 และคาดว่าจะผลักให้คู่แข่งมีการปรับตัวเช่นกัน
นายเยอเก้น โรสทริป ระบุว่า การควบรวมหากเกิดขึ้นแล้วก็จะก็ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะการพัฒนานวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรใหม่ให้เพียงพอที่จะรองรับวิสัยทัศน์ของเรา
นายซิคเว่ตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมในคำถามที่ว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ว่า มี 2 มุมมองที่ชวนให้คิด คือ หนึ่ง อย่ามองแค่ผู้เล่นโทรคมนาคมเพราะในอนาคตผู้เล่นระดับโลกรายใหญ่ เช่น Microsoft, Google, หรือ AWS ก็ถือเป็นคู่แข่งของบริษัทเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าหากไม่มีการควบรวมเกิดขึ้นก็จะไม่มีบริษัทที่แข็งแกร่งพอจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากเพียงพอ
ปัจจุบัน กระบวนการควบรวมยังอยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบออกมาสู่สาธารณชนภายในเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะถึง ทั้งนี้ หากกระบวนการทั้งหมดได้รับการอนุมัติคาดว่าหลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท การควบรวมก็จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ นายเยอเก้นระบุ
อย่างไรก็ตาม นายซิคเว่ตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ที่จริงแล้วเรามีมูลเหตุชัดเจนว่าทำไมถึงต้องควบรวมบริษัท แต่หากกระบวนการไม่เป็นอย่างที่คิด เราก็จะยังพยายามอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อสร้างให้ Growth 2.0 เกิดขึ้นในประเทศไทย
ที่มา – dtac
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา