DDproperty ชี้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาส LGBTQIA+ มีบ้าน เผยวิธีกู้บ้านให้ผ่านของกลุ่มนี้

หลังคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมสภาฯ มีมติรับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ทำให้ผู้คนกลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิทางกฎหมายหลายด้าน โดย DDproperty มองว่าหนึ่งในนั้นคือการซื้อบ้านด้วยกันในฐานะคู่สมรส

LGBT

เปิดช่องให้กลุ่ม LGBTQIA+ เป็นเจ้าของบ้าน

ปัจจุบันจะมีธนาคารหลายแห่งที่อนุมัติสินเชื่อบ้านการกู้ร่วมกันระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ DDproperty คาดว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ มีสิทธิขอกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมเฉกเช่นคู่รักชายหญิง ซึ่งการกู้ร่วมนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ ยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น และเลือกบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น

เนื่องจากยังมีธนาคาร และสถาบันการเงินหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ร่วม LGBTQIA+ ได้ โดยให้เหตุผลสอดคล้องกันว่า ผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน คือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกัน ด้วยเหตุนี้คู่รัก LGBTQIA+ ต้องใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME โดยคู่รัก LGBTQIA+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ

แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นจะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย และถึงจะให้กู้ร่วมได้แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง เช่น กู้ได้เพียง 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น DDproperty จึงคาดว่า หลังจากนี้ธนาคาร และสถาบันการเงินจะมีมาตรการรองรับ และมีการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ร่วม LGBTQIA+ อย่างเท่าเทียมชายหญิง

เผยเทคนิคคู่รัก LGBTQIA+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน

จากข้อมูลข้างต้นว่าปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น

  • มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)
  • พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
  • ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามปกติ คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากมีการเตรียมตัวเบื้องต้นให้พร้อมตามรายละเอียดต่าง ๆ ข้างต้น ก็จะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านของชาว LGBTQIA+ ลุล่วงไปได้ด้วยดี

เจาะตัวเลขจำนวน LGBTQIA+ ระดับโลก และไทย

การรับรู้และการเปิดกว้างของสังคมกับความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง “Pride Month” หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้รับผลตอบรับและเปิดรับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น โดยผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ ไม่น้อย

ข้อมูลล่าสุดจาก LGBT Capital ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ กว่า 371 ล้านคนทั่วโลก (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยคิดเป็นผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทย 3.6 ล้านคน มีอำนาจการใช้จ่ายอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประมาณการส่วนแบ่งความมั่งคั่งในครัวเรือนของผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทยยังมีถึง 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากที่เคยแตะระดับ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560

สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อของชาว LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและยังมีพฤติกรรมการใช้เงินในระดับดีอีกด้วย เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย กลายเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองของหลายธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา