ผลสำรวจเผย การเลี้ยงคนแก่ในองค์กรที่วัน ๆ เอาแต่นั่งเฉย ๆ เท่ากับการเลี้ยงเนื้อร้ายไว้ในองค์กร

คนแก่ในองค์กรที่นั่งเฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย สร้างผลเสียต่อองค์กร และเพื่อนร่วมงานอย่างไร? บริษัทที่ปรึษารายหนึ่งของญี่ปุ่นได้ลงสำรวจพนักงานในองค์กรต่าง ๆ พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งกำลังเผชิญปัญหานี้ และหากไม่เร่งแก้ไขจะกระทบต่อภาพรวมองค์กรแน่ ๆ

คนแก่

เลี้ยงคนแก่ที่ขี้เกียจคือเนื้อร้ายองค์กร

Shikigaku บริษัทที่ปรึกษารายหนึ่งของญี่ปุ่น ลงสำรวจปัญหาการเลี้ยงคนแก่ที่วัน ๆ ไม่นั่งทำอะไรในบริษัท หรือที่เรียกกันว่า Ojisan (คุณลุง) ผ่านการสอบถามพนักงานกว่า 300 คน ที่ทำงานในองค์กรที่มีพนักงานเกิน 300 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี โดยคนกลุ่มนี้ 49.2% ตอบว่ามีคนแก่กลุ่มนี้อยู่ในองค์กร

และเมื่อถามว่าแล้วคนแก่ที่วัน ๆ ไม่ทำงาน เอาแต่ทำอะไรก็ไม่รู้ แล้วเขาทำอะไร คำตอบที่ได้คือ

  • 49.7% ใช้เวลาพักบ่อย ๆ เพื่อไปสูบบุหรี่ และรับประทานของว่าง
  • 47.7% นั่งว่าง ๆ จ้องมองที่ว่าง
  • 47.3% พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ทำอะไรเหมือนกัน
  • 35.3% นั่งเล่นอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ Shikigaku ยังถามถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกที่จะนั่งขี้เกียจไม่ทำงานล่ะ คำตอบที่ได้คือ

  • 45% พวกเขาไม่ต้องการทำงาน
  • 41% บริษัทเลือกให้เงินเดือนตามอายุงานมากกว่าประสิทธิภาพของงาน
  • 26% ไม่มีใครในองค์กรเชื่อใจพวกเขา และไม่อยากให้งานพวกเขาทำ

ที่น่าสนใจคือ คนแก่ที่วัน ๆ ไม่ทำงาน ค่อนข้างสร้างปัญหาให้กับองค์กร ผ่านคำตอบว่า

  • 90% บอกว่าพวกคนแก่ที่ไม่ทำอะไรเลยเป็นเนื้อร้ายขององค์กร
  • 59% บอกว่าการเลี้ยงคนกลุ่มนี้ไว้ก็ส่งผลเสียต่อกำลังใจในการทำงาน
  • 49% บอกว่าการเลี้ยงไว้จะเพิ่มงานให้กับองค์กร
  • 35% บอกว่าพวกเขาเเป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงาน

ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสำรวจยังตอบว่า หากองค์กรไม่มีความเข้มงวด และให้แรงจูงใจในการบังคับคนแก่ ๆ ในองค์กรที่ไม่ทำงาน ปัญหานี้ก็คงไม่ถูกแก้ไข นอกจากนี้ยังอยากให้องค์กรอนุญาตให้พนักงานคนอื่นประเมินผลการทำงานของพนักงานทุกคน และมีนโยบายชัดเจนว่าหากปฏิบัติตัวแบบนี้จะถูกไล่ออกจากองค์กร

ผู้เขียนมองว่า ปัญหาดังกล่าวมีในประเทศไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่มีลำดับขั้นของตำแหน่ง และให้ความสำคัญกับอายุงานมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ เพราะองค์กรเหล่านี้มักจะมี ผู้ใหญ่ ที่นั่งเฉย ๆ ให้เวลาผ่านไปแต่ละวัน และให้พนักงานที่ระดับต่ำกว่า หรือลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่ต่าง ๆ แทน

ส่วนองค์กรใหม่ ๆ หรือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจที่มีการปรับตัว หรือถูกปัญหาทางการเงินบีบให้ลดจำนวนพนักงาน ก็อาจไม่พบเจอกลุ่มคนแก่ที่ไม่ทำงาน เพราะถูกมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะจ้างต่อ และถ้าเก็บเอาไว้จริง ๆ อาจส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานในอนาคตได้

อ้างอิง // Soranews24, ภาพจาก Pakutaso

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา