ตอนนี้บริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ หรือ Video on Demand (VOD) มีผู้เล่นที่เข้ามาทำตลาดในไทยเกือบ 10 เจ้า และล่าสุดก็มี Viu ที่แข็งแกร่งใน Content ซีรีส์ และวาไรตี้เกาหลีเข้ามาอีก
โอกาสยังมีถ้าทำ Niche Market
ถึงจะมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ Netflix ผู้ให้บริการระดับโลก แต่บริการ VOD ก็ยังมีพื้นที่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้บริการเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการในตลาดมีเนื้อหาภายในบริการเหมือนๆ กันคือ ภาพยนตร์ และซีรีส์ระดับ Hollywood
เฮเลน ซู รองประธานอาวุโสกลุ่ม Digital Media ของ PCCW Media ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อ และความบันเทิงจากฮ่องกง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการ Viu เล่าให้ฟังว่า เมื่อกระแส Smartphone และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคมีมากขึ้น ก็เป็นโอกาสในการทำธุรกิจ Over the Top (OTT) ในรูปแบบต่างๆ และ VOD ก็คืออีกหนึ่งบริการที่ได้รับความนิยม
“VOD เป็นบริการที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย เพราะมันคือภาพยนตร์, ซีรีส์ และวาไรตี้ต่างๆ ที่ให้ความบันเทิงกับผู้ชม ดังนั้นเราจึงเลือกบริการนี้ และมุ่งไปที่เนื้อหาจากเกาหลี ผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์ที่นั่น เช่น KBS, SBS และ MBC ในการขอเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการเผยแพร่รายการที่น่าสนใจแบบ VOD ในภูมิภาคเอเชีย”
ดูฟรี ถ้าอยากพรีเมียมก็เสียเงิน
สำหรับการเริ่มต้นของ Viu นั้นให้บริการตั้งแต่ปี 2558 ให้บริการทั้งหมด 14 ประเทศ เช่นสิงคโปร์, ฮ่องกง, มาเลเซีย,อินเดีย และล่าสุดคือไทย ผ่านจุดเด่นเรื่องการทำคำบรรยายตามภาษาท้องถิ่น หรือ Subtitle ได้เร็ว โดยหลังจากซีรีส์ หรือรายการวาไรตี้แพร่ภาพจบที่เกาหลีใต้ ซีรีส์ หรือรายการดังกล่าวก็จะมีคำบรรยาย และให้รับชมแบบ VOD ได้ในวันรุ่งขึ้น
ขณะเดียวกันการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนั้น Viu ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปีแรก เพราะเพิ่งเริ่มทำตลาดจริงจังเมื่อต้นปี 2560 แต่รูปแบบธุรกิจจะเป็นเหมือนกับ 14 ประเทศทั่วโลกคือ มีส่วนให้บริการฟรี หรือ Free Viu ที่ต้องรอ 72 ชม. หลังซีรีส์ หรือวาไรตี้ขึ้นแพร่ภาพในระบบจึงรับชมได้, มีข้อจำกดเรื่องความคมชัด, มีโฆษณา และรับชมแบบออฟไลน์ไม่ได้
กับส่วนให้บริการแบบสมัครสมาชิก หรือ Viu Premium ที่จะปลดล็อคข้อจำกัดข้างต้นทั้งหมด ผ่านการเสียค่าสมัครสมาชิก 119 บาท/เดือน แต่ทาง Viu ได้ร่วมทำตลาดกับ AIS เพื่อเพิ่มวิธีชำระเงินแบบ Operator Billing และให้สิทธิ์ลูกค้าในระบบ AIS สมัครสมาชิกได้ในราคา 99 บาท พร้อมได้สิทธิ์รับชมฟรี 60 วัน
แข่งแบบเพื่อน แต่คนกำกับเหนื่อย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของบริการ VOD ในประเทศไทยค่อนข้างสูง เพราะมีผู้เล่นจำนวนมาก แต่ยิ่งมีผู้เล่นเยอะ การจะช่วยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการรับชมภาพยนตร์ และซีรีส์ที่ถูกลิขสิทธิ์ก็ทำได้ดีขึ้น และผู้เล่นทุกต่างได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ถึง Viu จะคล้าย VOD รายอื่น แต่จุดแข็งที่คนอื่นไม่มีของบริษัทคือ เนื้อหาจากเกาหลีที่เร็ว รวม 10,000 กวาชม. และมี Subtitle
“เมื่อ Viu มีบริการฟรี และเสียเงิน ทำให้รายได้ของบริษัทก็มีหลากหลาย ตอนนี้ Mindshare เอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ก็เริ่มมาคุยกับเราในการยิงโฆษณาร่วมกันแล้ว และในระดับโลก ยอดรายได้จากฝั่งรับชมฟรี และฝั่งสมัครสมาชิกก็เติบโต 20% ในแต่ละปีที่ให้บริการอีกด้วย ผ่าน Active User ราว 6 ล้านราย”
ส่วนเรื่องการกำกับ OTT ในประเทศไทย ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังศึกษาอยู่นั้น มองเป็นเรื่องดี เพราะช่วยสร้างมาตรฐานในการแข่งขัน และพร้อมให้คำปรึกษาเต็มที่ เพราะผู้เล่นในไทยค่อนข้างเยอะ รวมถึงหากทำได้ การละเมิดลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ และซีรีส์ในไทยก็น่าจะลดลงด้วย
สรุป
เป็นอีกผู้เล่นที่น่าจับตามอง เพราะถ้าจะว่าไปโมเดลธุรกิจของ Viu ก็คล้ายกับ Joox ที่ให้ฟังเพลงฟรี มีโฆษณาขั้น แต่ทางนั้นน่าจะลำบาก เพราะยังไม่มีโฆษณามากนัก ส่วน Viu น่าจะเดินโมเดลนี้ได้ดีกว่า เพราะเมื่อเป็นรายการซีรีส์ หรือวาไรตี้ ผู้บริโภคยินยอมที่จะดูอยู่แล้ว เพราะติด รวมถึงแบรนด์ก็เข้าถึงผู้บริโภคที่รับชมรายการได้ตรงเป้าหมายกว่าเช่นกัน
ทั้งนี้ Viu มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ Millennial และ Generation X ปัจจุบันการรับชมผ่านโมบาย ทั้งบน Application ในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เป็นช่องทางหลัก ส่วนการรับชมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์นั้นถือเป็นส่วนน้อย นอกจากนี้ทาง Viu ยังมีส่วนช่วยเจ้าของลิขสิทธิ์ในการตรวจจับเว็บละเมิดสิขสิทธิ์ในพื้นที่ที่เข้าไปทำตลาด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา