กรุงเทพติด Top 5 เมือง Work-Life Balance พัง: OT เก่ง-วันลาขั้นต่ำน้อยสุด-เมืองปลอดภัยรั้งท้าย

กรุงเทพมหานคร ติด 1 ใน 5 เมืองที่มีปัญหาเรื่อง Work-Life Balance มากที่สุดในปี 2022 วัดจาก Work-Life Balance Index ที่จัดทำขึ้นโดย Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสมดุลชีวิต-การทำงานหลากหลายด้านของ 100 เมือง โดยบริษัทได้เริ่มต้นวิจัยและจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2019

กรุงเทพเมืองเทพสร้าง? เมื่อคนทำงานไม่ได้เจอชีวิตที่ดีอย่างที่คิด

กรุงเทพคือเมืองที่มีคะแนน Work-Life Balance Index ในปี 2022 เป็นอันดับที่ 96 จากทั้งหมด 100 เมือง (หรือแย่เป็นอันดับ 5) หล่นลงมาจากอันดับ 49 จากการวิจัยเมื่อปี 2021 ซึ่งถ้าเป็นฟุตบอลก็คงต้องพูดว่าเป็นการร่วงจากกลางตารางสู่โซนตกชั้นเลยทีเดียว

เอาเข้าจริงแล้ว Kisi ระบุว่ากรุงเทพคือเมืองผู้คนน่ารัก มีกิจกรรมหลากหลาย แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรุงเทพอยู่ในโซนรั้งท้ายคือเรื่องงานหนักและความน่าอยู่ของเมือง 

กรุงเทพคือเมืองที่มีความปลอดภัยอันดับ 97 จาก 100 เมืองที่ทำการศึกษา ที่สำคัญคือได้คะแนนเรื่องของการทำงานที่ต่ำเอามากๆ เพราะงานที่ทำทางไกลได้มีสัดส่วนแค่ 16.84% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุด มีวันลาขั้นต่ำน้อยที่สุด แถมสัดส่วนคนทำงานล่วงเวลาก็มากเป็นอันดับ 7

ส่องกล้องมองสังคมการทำงานระดับโลก

ทั้งนี้ 5 เมืองที่มี Work-Life Balance แย่ที่สุด ได้แก่

  • เคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้
  • ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
  • เซาเปาโล ประเทศบราซิล
  • กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

europe economy recovery

ส่วน 5 เมืองที่มี Work-Life Balance ดีที่สุด ได้แก่

  • ออสโล ประเทศนอร์เวย์
  • เบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
  • ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

Work-Life Balance วัดผลจากทุกมิติของชีวิต

Kisi ทำการเก็บข้อมูลของแต่ละเมือง 3 หมวด คือ ความหนักของงาน (Work Intensity) สังคมและสถาบัน (Society and Institutions) และ ความน่าอยู่ของเมือง (City Liveability) โดยในแต่ละด้านจะมีการเก็บข้อมูลในมิติต่างๆ ดังนี้

  • ความหนักของงาน: สัดส่วนงานที่ทำทางไกลได้, สัดส่วนประชากรที่ทำงานล่วงเวลา, จำนวนวันลาขั้นต่ำ, จำนวนวันลาที่ถูกใช้, การว่างงาน, สัดส่วนคนทำงานมากกว่า 1 งาน, อัตราเงินเฟ้อ และจำนวนวันลาคลอด
  • สังคมและสถาบัน: ผลกระทบจากโควิด-19, ความช่วยเหลือเรื่องโควิด, ระบบสาธารณสุข, การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต และความเท่าเทียม
  • ความน่าอยู่ของเมือง: ค่าใช้จ่าย, ความสุข วัฒนธรรม และกิจกรรมนันทนาการ, ความปลอดภัยของเมือง, พื้นที่กลางแจ้ง, คุณภาพอากาศ และความเป็นอยู่ด้านสุขภาพ

เห็นได้ชัดว่าเมื่อพูดถึง Work-Life Balance งานไม่ได้เป็นแค่เรื่องเดียวที่ต้องคิด แต่ปัจจัยอื่นๆ ในชีวิต เช่น สุขภาพจิต ความเท่าเทียม วัฒนธรรม คุณภาพอากาศ ไปจนถึงความปลอดภัยของเมืองก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี (หรือไม่ดี) ของคนในเมืองเช่นกัน

ดูวิธีการวิจัยและรายงานผลการวิจัยโดยละเอียดได้ที่ Kisi: Work-Life Balance: Best Cities Worldwide in 2022

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา