สงสัยตลาดเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์จะโตเร็วจริงๆ เพราะขนาด Heineken เบอร์สองของการผลิตเบียร์ในระดับโลก ยังตัดสินใจโดดเข้ามาในตลาดนี้ ผ่านการส่ง Lager แบบไม่มีแอลกอฮอล์ในชื่อ Heineken 0.0 มาแข่ง
เติบโต 5% โดยเฉลี่ยมา 5 ปี
ตลาดเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์อาจไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนัก นั่นก็เพราะไม่มีคนนำเข้า หรือผู้ผลิตในประเทศทำเบียร์ประเภทนี้ออกมาจำหน่าย แต่ในกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกานั้นได้รับความนิยมมาก ผ่านกระแสเรื่องการรักสุขภาพ เช่นในยุโรป และรัสเซีย สินค้าตัวนี้มีมูลค่าตลาดเติบโตเฉลี่ย 5% ตั้งแต่ปี 2553-2558
Gianluca Di Tondo ผู้อำนวยการด้านแบรนด์ดิ้งของ Heineken เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มมีกระแส Clean Living หรือรักษาสุขภาพมากขึ้น ผ่านการดูแลเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเบียร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น จนเป็นปัจจัยสำคัญให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกลดลงมา 2 ปีซ้อน เช่นปี 2559 ลด 0.2% และ 2558 ลด 0.8%
“ที่ Heineken ต้องทำ Heineken 0.0 ออกมา ก็เพราะตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ และหวังเป็นผู้นำในตลาดนี้ แม้ตอนนี้มันจะเล็ก แต่อนาคตมันเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน และถึงจะไม่มีแอลกอฮอล์ แต่เรื่องรสชาติก็สำคัญ เพราะปัญหาหลักของเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์คือรสแย่ ดังนั้นเราจึงเน้นพัฒนาเรื่องนี้ และดำรงไว้ซึ่งบรรยากาศในการดื่มไว้ได้เหมือนเดิม”
กำไรยิ่งกว่าขายเบียร์ปกติ
แม้เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์จะมีวิธีการผลิตที่แทบจะเหมือนกับเบียร์มีแอลกอฮอล์ปกติ เพียงแต่ช่วงสุดท้ายจะสกัดแอลกอฮอล์ทิ้งไป แต่จากจุดนี้เองทำให้แบรนด์ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ได้มีส่วนต่างกำไรมากกว่าเบียร์ปกติ เพราะไม่ต้องไปเสียค่าภาษีเครื่องดื่มมึนเมา แถมยังโฆษณาได้อย่างแพร่หลาย เพราะถือเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ที่สำคัญเครื่องดื่มตัวนี้อาจเข้ามาแข่งกับน้ำอัดลม หรือ Soft Drink ของแบรนด์ต่างๆ ในตลาดเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรเมื่อมองในประเทศไทย โอกาสที่เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์จะมาจำหน่ายก็คงยาก เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเลือกที่จะดื่มเบียร์แล้วเมามากกว่า ที่สำคัญถึงกระแสสุขภาพในไทยจะบูม แต่หากจะสนุกไปกับบรรยากาศจริงๆ ผู้บริโภคก็เลือกที่จะดื่ม มากกว่าที่จะไม่ดื่มเลย
สรุป
ตลาดนี้อาจค่อยๆ เติบโต และกลายเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตเบียร์หันมาจริงจังกับเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์แน่นอน เพราะในทั่วโลกยังมีผู้ต้องการดื่มเบียร์ แต่ไม่เมา และไม่ทำลายสุขภาพอยู่ ส่วนในประเทศไทยคงต้องรอกันต่อไปก่อน ว่าสุดท้ายแล้วจะมีผู้ผลิต หรือคนนำเข้ารายใดหรือไม่ ในการนำสินค้าตัวนี้เข้ามาขายหรือไม่
อ้างอิง // Reuters, Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา