ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรธุรกิจในจีนนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ก็ถึงเวลาของธุรกิจซอฟต์แวร์บ้าง เพราะยักษ์ใหญ่อย่าง Kingsoft ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ที่มีผู้ใช้ในจีนมากกว่า 90% กำลังบุกประเทศไทยแล้ว
ตั้งพาร์เนอร์เร่งจับมือหน่วยงานรัฐ
การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของ Kingsoft จะไม่ได้ทำเองเต็มตัว เพราะแต่งตั้ง บริษัท ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส จำกัด ที่จดทะเบียนร่วมกันระหว่างไทยกับจีน เป็นตัวแทนจำหน่าย และที่ปรึกษาการออกแบบซอฟต์แวร์ในไทย เป้าหมายแรกของการเข้ามาคือกลุ่มหน่วยงานรัฐ เพราะสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยโครงการนี้เริ่มพัฒนามา 1 ปีครึ่ง
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาทำตลาดก่อนคือ WPS Office หรือซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์การทำ Word Processor, Presentation และ Spreadsheet ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐ และธุรกิจเกี่ยวกับการเงินใช้งานกว่า 80% ของหน่วยงานดังกล่าวในประเทศจีน ซึ่งการทำตลาดในประเทศไทยนั้น ได้มีการ Localize ทั้งภาษา และรูปแบบการใช้งาน
![](https://brandinside.asia/wp-content/uploads/2017/05/IMAG0245.jpg)
เกอะ เคอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WPS Office เล่าให้ฟังว่า หลังจากให้บริการในจีนมาเกือบ 30 ปี และตัวซอฟต์แวร์ถูกติดตั้งมากกว่า 1,000 ล้านเครื่อง ก็ถึงเวลาที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจากที่นี่กำลังเดินหน้านโยบาย Thailand 4.0 และการจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม และลดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ก็น่าจะเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญ
จ่าย 5,000 มีทอน แถมตลอดชีพ
สำหรับการเทำตลาดในประเทศไทยนั้น นอกจากจะร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ WPS Office ให้ใช้งานในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ยังเตรียมทำตลาดในระดับองค์กร ผ่านการจำหน่ายในราคา 4,990 บาท ในช่วง 3 เดือนจากนี้ และจะปรับขึ้นเป็น 5,250 บาทเมื่อระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุด โดยราคานี้คือแพ็คเกจแบบตลอดชีพ ไม่ใช่การเช่าใช้รายปี
ขณะเดียวกันยังเตรียมจำหน่าย WPS Office สำหรับผู้ใช้ทั่วไป โดยมีราคาถูกกว่าที่ทำตลาดกับองค์กร แต่จะตัดบาง Feature ออกไป และยังเตรียมออกแบบ WPS Office ให้สถาบันการศึกษาใช้ฟรี ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิดราคาเข้าถึงได้, บริการที่เข้ากับผู้บริโภค และทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อกันด้วยคลาวด์ (อยู่ระหว่างการตัดสินใจนำเข้ามาให้บริการ)
ห่วงโตเร็ว จนต้องหาทีมงานเพิ่ม
“ความท้าทายในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยคือการบริการลูกค้า เพราะช่วงแรกยอมรับว่ายังไม่ได้ลงทุนมาก แต่หากการเจรจากับรัฐเรียบร้อย หรือราคาเอื้อมถึงทำยอดผู้ใช้เพิ่มอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เราต้องเพิ่มทีมงาน และดีกรีการทำตลาด รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น WPS Mail กับ WPS+ ที่เป็นบริการคลาวด์มาให้บริการ”
สรุป
การเข้ามาให้บริการของ Kingsoft แสดงให้เห็นถึงโอกาสในธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศไทยที่ยังเปิดกว้าง แต่การเข้ามาครั้งนี้ก็อาจสร้างความหนักใจให้กับ Software House ท้องถิ่นกันบ้าง เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้ยักษ์ใหญ่จากจีนจะเอาอะไรเข้ามาอีก และเชื่อว่าผู้เล่นรายย่อยยังไม่ได้ปรับตัวรับกับการที่ต่างชาติเข้ามาทำตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้จีนถือเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก และมีมูลค่าซื้อขายระหว่างไทยกับจีนที่ 65,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความเป็นเพื่อน และพาร์ทเนอร์การลงทุนในประเทศไทยที่สำคัญ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา