อวสานอาชีพชาวนา? ไทยอาจนำเข้าข้าวแทนส่งออก ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ปัญหาหนี้

นี่อาจเป็นยุคสุดท้ายของการทำนา? 

ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ปัญหา ต่อไป ไทยอาจต้องนำเข้าข้าวเพราะไม่มีชาวนาทำนาอีกต่อไปแล้ว ไม่มีทายาทสืบทอด ไม่มีลูกหลานอยากสานต่อ

Thai-Farmers

ใครจะอยากทำงานที่รายได้ต่ำกว่าต้นทุน มีเรื่องเดือดร้อนก็ปล่อยให้เรียกร้องยาวนานจนน่าประหลาดใจ เหตุใดรัฐจึงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนที่เป็นคนสูงวัยกลุ่มใหญ่ที่ออกมาเรียกร้องนอนรอความช่วยเหลือ อยู่ริมถนน ตากแดด ตากลม ตากฝน ทนป่วย ทนต่อการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเช่นนี้ได้อย่างไร?

ต้องบอกว่าเสียงจากชาวนาที่รอคอยให้รัฐเร่งแก้ปัญหา กว่าความช่วยเหลือจะมาถึง มันช่างยาวนานเหลือเกิน รอบล่าสุดที่กลุ่มชาวนาออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ ช่วยโอนหนี้จากธนาคารให้เป็นของรัฐ เพื่อจะได้ไม่มีการคิดดอกเบี้ย ในปัจจุบันนี้แม้ช่วงใดที่ประสบภัยแล้ง ไม่มีผลผลิต ชาวนาไม่มีรายได้ แต่ก็ยังต้องก้มหน้าหาเงินจากทางอื่นเพื่อใช้ดอกเบี้ยต่อไป เมื่อไม่มีรายได้ จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้? เมื่อหยุดจ่ายหนี้ ดอกก็เพิ่มสูงขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

หนำซ้ำ เมื่อใดที่ได้ผลผลิต ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลผลิตที่ได้ จะได้รับกลับมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่า ชาวนาจะทำนาได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหนือสิ่งอื่นใด ต้นทุนการผลิตยังแพงกว่ารายได้จากผลผลิตเสียอีก รัฐทำไมยังปล่อยให้ชาวนาต้องตกที่นั่งลำบากยาวนานขนาดนี้ การที่เขาออกมาเรียกร้องให้รัฐช่วย เพราะเขาไม่เหลือหนทางสู้แล้ว ถ้าปล่อยเวลานานไป สถาบันการเงินทั้งหลายอาจฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดอีก

ถ้านับจากวันที่เริ่มเดินทางมาเรียกร้องให้รัฐโอนหนี้รอบนี้ เริ่มเมื่อคืน 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นับถึงเวลานี้เป็นเวลายาวนานถึง 52 วันแล้ว

ข้อเรียกร้องที่ชาวนาต้องการให้รัฐช่วยเหลือ

หนึ่ง ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก ให้ช่วยเร่งโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของ กฟก. หรือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และขยายวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาท เสนอเรื่องเข้าสู่มติ ครม.

สอง ลดหนี้ ปลดหนี้สำหรับเกษตกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือไม่เกิน 25% ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ

สาม ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมปฏิรูปการบริหารงานของ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ราคาพืชผลเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ย แพงขึ้น แพงขึ้น รัฐบาลควรช่วยเหลือและเยียวยารวมทั้งพักชำระหนี้

เสียงของคุณมีค่า ใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของชาวนาได้ที่นี่: Change.org แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ อย่าปล่อยให้ชาวนาล่มสลาย

อ่านบทสัมภาษณ์ของเกษตรกรผู้ออกมาเรียกร้องได้ด้านล่างนี้ ออกไปเยี่ยมกลุ่มผู้เรียกร้องเพื่อให้กำลังใจและสนับสนุน ฟังเสียงเรียกร้องของพวกเขาได้ที่บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง อย่าปล่อยให้เขาต้องสู้เพียงลำพัง

Thai-farmer

‘ไม่มีแล้ววันอังคาร
รัฐบอกจะเอาเรื่องเข้าประชุม ครม. รัฐบอกหลายอังคารแล้ว
หลานถาม เมื่อไรย่าจะกลับ อังคารของย่ามาช้าจังเลย
ย่าก็ตอบไป ไม่มีอังคารแล้ว จันทร์แล้วพุธเลย อังคารมานาน มาช้าเหลือเกิน’

เจ๊หน่อย อายุ 63 ปี มาจากจังหวัดนครสวรรค์ อ.บรรพตพิสัย ทำนาตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษๆ ทำนามาตลอดเลย มีรายได้บ้างขาดทุนบ้าง ถ้าเป็นยุคยิ่งลักษณ์นี่ค่อนข้างบูม ยุคหลังนี้ ต้องใช้น้ำมันเพื่อไปสูบน้ำลงนาเพื่อทำนาถึง 3 ต่อ ถังละ 5,700 บาท ใช้ประมาณ 2 ถังกว่าจะจบนา กว่าจะได้เกี่ยว ใช้ทั้งปุ๋ยและยา ฉีดคราวละ 1,000 กว่าบาท 4 หน กว่าจะได้เก็บเกี่ยวได้เกวียนละ 6,000 กว่าบาท เท่านี้ก็ไม่มีเงินใช้หนี้ใช้สิน ต้องพยายามเข้ากองทุนฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลยังไม่ยอมเอาหนี้เข้ากองทุนให้เลย

หนี้ยังอยู่ ธกส. กลัวเขาจะเอาขายทอดตลาดเพราะเราไปกู้เขามาทำทุน

ทำนา 25 ไร่ ทำมาตลอด เป็นที่ดินของพ่อปู่ แม่ย่าตัวเอง ได้เอาที่นาไปไว้กับ ธกส. เพื่อกู้เงินมาใช้หรือเรียกว่าจำนองนั่นแหละ ดอกเบี้ยร้อยละ 7-8 บาท ปีหนึ่งถ้าเราไม่ได้ส่ง ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหนี้ 3 แสน ตอนนี้ทั้งต้น ทั้งดอกเพิ่มเป็น 6 แสนบาทแล้วเพราะไม่มีรายได้ไปใช้หนี้

ตอนที่ไม่มีรายได้จากนา ก็เอารถพ่วงไปขายของ ไปรับไข่ไก่มาขาย ปลูกผักกินในบ้าน สภาพของที่ดินก็ทำนาได้อย่างเดียว ทำถั่ว ทำข้าวโพดไม่ได้ นาอยู่ในพื้นที่สูง ไม่มีน้ำ ต้องดึงน้ำมาใช้เยอะถึงสี่ทอดกว่าจะถึง อยู่ที่นี่มาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมแล้ว ไม่เคยกลับเลย ปีก่อนหน้านี้ที่ไม่มีโควิด น้ำก็ต้องไปซื้อกิน ห้องน้ำก็ต้องไปอาบคราวละ 15 บาท เดี๋ยวนี้มีขนม มีข้าวมาแจกบ้าง

อยากฝากถึงรัฐบาล สงสารชาวนาบ้างเถ๊อะ ชาวนาทำนายากเข็น ลำบาก ซื้อเรือดำน้ำได้ ช่วยชาวนาบ้างไม่ได้เลยเหรอ ซื้อมาทำไมเรือดำน้ำ? ช่วยชาวนาดีกว่าไหม? ทำนายุคตู่ อะไรก็แพงหมด หมูก็แพง ไข่พี่ตู่แพงจังเลย ทุกอย่างราคาขึ้นหมดเลย น้ำมันก็ขึ้น จะกินอะไรกันได้บ้าง 

อยากฝากถึงคนทั่วไป ให้กำลังใจพวกชาวนาหน่อย มาอยู่ตั้งสองเดือนแล้ว รากหญ้าจนๆ มาลำบากอยู่เนี่ย อยากให้รัฐนำเรื่องเข้า ครม. ไวๆ ค่ะ เขาบอกวันอังคารนี้ อังคารนี้หรืออังคารหน้าก็ไม่รู้ หลายอังคารจัง ป้าเลยบอกหลานที่อยู่บ้านว่า “มันไม่มีวันอังคารหรอกลูก” หลานถาม “ย่า วันไหนจะกลับ ทำไมอังคารย่านานจัง” ป้าบอก “ไม่มีวันอังคารแล้วลูก วันจันทร์แล้วก็พุธเลย อังคารหลายอังคารเหลือเกิน..ไม่มีอังคารแล้ว”

Thai-farmers

‘อย่าเข้าใจผิดว่า อยากให้รัฐใช้หนี้ให้
บางปี เราเจอภัยแล้ง ไม่ได้ผลผลิต แต่ดอกเบี้ยก็ยังไม่เคยหยุดคิด
ดอกเบี้ยคิดตลอด แต่เราไม่มีรายได้ จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้
ถ้าไม่หยุดคิดดอก ถ้าดอกเบี้ยไม่เคยลด หมดโอกาสใช้หนี้แน่นอน’

บัวลอย ฟักเจริญ อายุ 69 ปี ที่ผ่านมา ก็ทำนาหว่าน นาปี เจอภัยแล้งบ้าง ได้ผลผลิตบ้าง มีพื้นที่ทำนาของ สปก. อยู่ 50 ไร่ แต่ก็เอานาไปไว้ที่ ธกส. หมดเพื่อจะได้กู้เงินไปลงทุนปุ๋ย ลงทุนยาฉีดอ้อยบ้าง ที่ต้องการเข้าฟื้นฟูก็เพราะว่าดอกเบี้ยถูก ชาวนาก็ไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูอีกทีหนึ่ง ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า เอาหนี้เข้ากองทุนฟื้นฟูเพราะต้องการให้ใช้หนี้แทน ไม่ใช่ 

มาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือตั้งแต่คืนวันที่ 23 มกราคมแล้ว มีคนมาแจกมุ้ง มีคนบริจาคข้าว น้ำ ขนม ยา มีหมออาสามาช่วยดูแล แจกยาบ้าง ที่มานี่ก็มาคนเดียว มาจากท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ไม่ได้มีญาติมาด้วย มีแต่เพื่อนบ้านมาด้วยกัน 10 กว่าคน

ทำนามาตั้งแต่แต่งวัยยี่สิบแล้ว ทำนามา 50 ปีแล้ว ทำนายุคนี้ต่างกับยุคก่อนมาก ต้องมีเครื่องมือ มีปุ๋ย มีเครื่องดูดน้ำ เดี๋ยวนี้ต้องมีท่อ มีเครื่องวิดน้ำ ตอนนี้ก็ให้ลูกหลานทำนาบ้างแล้ว ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว สภาพที่นาทำได้แค่ไร่อ้อยเท่านั้นปลูกอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ตอนที่มาครั้งแรกมีฟื้นฟูช่วย มานอนสองปีกว่าที่แล้ว ฝนตกหลบเข้าหลบออก ลำบากมาก นอน 2 เดือนแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ รัฐบอกหลายขั้นตอน ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเข้าประชุม ถ้าไม่หยุดดอกก็หมดโอกาสหยุดหนี้ เคยทำอ้อย เคยหนี้เป็นล้าน พอหยุดดอกให้ก็ใช้หนี้หมด ช่วงนั้นยังแข็งแรงอยู่ 

ตอนนี้มีหนี้ร่วม 4-5 แสนบาทแล้ว หยุดส่งเงินต้นไป 2 ปีเพราะที่ผ่านมา 3 ปีเจอภัยแล้งตลอด น้ำในบ่อก็ไม่มีจะใช้ เงินดอกเบี้ยก็พุ่งมาเกือบ 2 แสนบาท กู้อะไรเพิ่มก็ไม่ได้

ฝากถึงรัฐบาลว่า อยากให้ช่วยชาวนาค่ะ ไม่ใช่ชาวนามาใช้หนี้ มาใช้หนี้กองทุน ชาวนาก็ลำบาก ทำนาแล้วไม่ได้ผลผลิตก็มี พอได้ผลผลิตก็ได้เกวียนละ 6,000 กว่าบาท ได้รายได้ก็ยังไม่คุ้มทุน บางคนมีหนี้เป็นล้านกว่า ทำนาปรัง  

Thai-farmers

‘คงไม่มีใครทำนาแล้ว
รุ่นลูก รุ่นหลาน เห็นแม่ยิ่งทำนา ยิ่งแย่ลง
รัฐบาลอย่าปล่อยให้เรา ลำบากไปกว่านี้เลย’

น้ำอ้อย ยิ่งรุ่งเรือง หญิง อายุ 47 ปี น้ำอ้อยเล่าว่า เดินทางมาคนเดียวพร้อมกับสมาชิกขององค์กรฯ ตั้งแต่ 24 มกราคม 2565 มาจาก จ.นครสวรรค์ อ.บรรพตพิสัย น้ำอ้อยเป็นหัวหน้าองค์กรกลุ่มเพื่อนเกษตรกรพัฒนาวังซ่าน มีสมาชิกอยู่ 400 คน ทั้งเครือข่ายรู้จักกันทั้งหมดรวม 36 จังหวัด

ถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ทำนาเป็น 100 ไร่ ต่อมาลดเหลือ 40-50 ไร่ ทำนาไปก็พบว่ายิ่งทำยิ่งแย่ จึงลดพื้นที่การทำนาลง ตอนนี้เหลือประมาณ 30 ไร่  จากเดิมปุ๋ยราคากระสอบละ 700-800 บาท ตอนนี้ขึ้นมาถึง 1,300-1,400 บาท ปุ๋ยก็แพง ยาก็แพง แพงทุกอย่าง เราลงทุนการทำนาต่อ 1 ไร่ 7,000-8,000 บาท แต่รายได้จริง เราขายข้าวได้เกวียนละประมาณ 6,500 บาท รายได้ติดลบแบบไม่มีค่าแรงเจ้าของเลย

ต้องเข้าใจว่า ทำนาไม่ได้มีการเกี่ยวข้าวทุกปี บางคราวเจอภัยแล้ง เจอโรคจู๋หรือโรคต้นดอกหอม ก็คือไม่มีรวงข้าวออก ทำให้ไม่มีผลผลิตเลย ช่วงปี 2560 ไม่ได้ข้าวเลยเพราะเจอภัยแล้ง พอจะได้เกี่ยวก็เจอน้ำท่วม เจอน้ำท่วมปีละ 2 หน ทำให้ชาวนาเป็นหนี้พอกมาเรื่อยๆ อยู่กรุงเทพฯ มาหลายวันแล้ว สุขภาพสมาชิกก็เริ่มแย่ลง เนื่องจากส่วนมากเป็นคนสูงอายุ มีป่วยบ้าง ท้องเสียบ้าง

ก่อนหน้านี้ น้ำอ้อยมีหนี้ 2 ล้านกว่าบาท กองทุนก็ชำระหนี้แล้ว เป็นหนี้เร่งด่วนที่จะถูกขายทอดตลาด จึงถูกนำมาจัดสรรให้ซื้อหนี้ไปก่อน สมาชิกเราส่วนมากเป็นหนี้ ธกส. เยอะ รุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่มีทำนาแล้ว เขาก็เห็นว่า ยิ่งทำนา แม่ยิ่งแย่ ถ้าเราเอาหนี้จาก ธกส. มาไว้กองทุนฯ จะได้ทำให้ไม่เป็นภาระลูกหลานเยอะ ทำให้เป็นหนี้เรารุ่นสุดท้าย ถ้าเราได้อยู่กองทุน กฟก. แล้ว เราจะลืมตาอ้าปากได้ หมดห่วงสักที ขอให้ 4 ธนาคารแบงก์รัฐเข้า ครม. ให้เรา จะได้กลับบ้านแล้ว 

“หลาน 5 ขวบโทรมา แม่ วันอังคารมันนานจังเลยเนาะ” เราเข้ารถห้องน้ำก็ลำบาก มันไกล เกิดอุบัติเหตุบ้าง ที่ที่เราอยู่ก็มีแต่ตากับยายเท่านั้นแหละ ถามว่าทำไมแกต้องมา ก็เพราะแกเดือดร้อน ถ้าไม่มา ที่อยู่ ที่ทำกินที่อยู่อาศัยอาจจะโดนยึดก็ได้

น้ำอ้อยเริ่มทำนาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว ทำนามาตั้งแต่อายุ 17-18 ปี เมื่อก่อนที่เริ่มทำนาก็ยังทันยุคที่ใช้การเกี่ยวมือ มีนาปี ไม่มีนาปรัง การลงทุนยุคนี้กับยุคก่อนไม่เหมือนกัน ถึงจะได้ข้าวน้อย การลงทุนก็ผิดกัน พ่อแม่ทำนา 20 ไร่ ใช้ปุ๋ยทีละหนึ่งกระสอบใช้ยันเกี่ยว พอถึงรุ่นตัวเองเป็นนาปรังแล้ว ซื้อปุ๋ยทีเป็นตัน เมื่อก่อนทำนาปี 10-20 ไร่ใช้ปุ๋ยละหนึ่งกระสอบ พอออกรวงใส่อีกหนึ่งกระสอบ รวม 2 กระสอบ แต่ยุคนี้นา 20 ไร่ต้องซื้อปุ๋ยถึง 20 กระสอบต่อหนึ่งครั้ง เราไม่ได้หว่านคราวเดียว หว่าน 2-3 คราว ยุคนี้ก็ต้องมีเครื่องจักรกล ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เราได้ข้าวเกวียนละ 8,000-10,000 บาท ปุ๋ยลูกละ 600-700 บาท ปัจจุบันข้าวเกวียนละ 6,500 บาท ปุ๋ยลูกละ 1,400 บาท

สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล ข้อเรียกร้องของเรา คือการตามเรื่องเก่า คือ 4 ธนาคารแบงก์รัฐ เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ผ่านมาหนึ่งปีแล้วก็ยังไม่ไปถึงไหนเลย ขอให้นำเรื่องเข้า ครม. สักที ถ้าเรื่องไม่เข้าก็ทำให้รุ่นก่อนๆ นั้นล้มหายตายจากไปบ้างแล้ว ก่อนหน้านี้อยากได้อะไรก็ต้องมาม็อบ รัฐบาลไม่เคยให้อะไรง่ายๆ เลย ต้องให้สมาชิกที่เดือดร้อนจริงมา งวดที่แล้วก็ขอให้ตัดต้น ลดดอก ตอนนี้ก็คือขอให้ตัดต้นครึ่งหนึ่ง ดอกเบี้ยไม่มี ค่าปรับไม่มี ตอนนี้เหลือแค่ 4 ธนาคารแบงก์รัฐให้จัดการให้เรา เพื่อจะได้เดินหน้าซื้อหนี้ให้สมาชิก ฟื้นฟูหนี้ให้สมาชิก

Thai-farmers
‘ยุคนี้ลงทุนเยอะ ไม่งั้นไม่ได้ผลผลิต
น้ำมันแพง อะไรก็แพง หากินแย่
ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว
เรื่องเข้า ครม. ก็จะกลับ’

สมนึก หอสูงเนิน (นึก) หญิงวัย 56 ปี เล่าให้เราฟังว่า เธอทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง เธอทำกับสามีและแม่ตอนนี้แม่ก็อายุมากถึง 90 ปีแล้ว เธอเดินทางมาจากจังหวัดนครสวรรค์ สาเหตุที่มาคนเดียว เพราะที่บ้านยังมีคนสูงวัย มีหมูหมากาไก่ให้ต้องเลี้ยง เธอบอกว่าเธอเหงา อยากกลับบ้านแล้ว อยากให้รัฐบาลช่วยนำเรื่องเข้า ครม. ไวๆ มาอยู่ตั้งแต่ 24 มกราคมแล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้กลับเลย

นึกเล่าว่าออกมาเรียกร้องหลายครั้งแล้ว ปกติก็ทำนาสวนผสม ทำข้าวบ้าง ทำมัน ทำอ้อยบ้าง พื้นที่ก็เช่าบ้าง เป็นของแม่ 50 กว่าไร่ เช่าเขา 50 กว่าไร่ มีหนี้อยู่ 1 ล้านกว่าบาท ทำนาผลผลิตไม่ได้ตามเป้าเท่าที่คิด ปุ๋ย 1,500 บาทต่อกระสอบ (400-500 ขึ้นมาเรื่อยๆ) มีหลายตัว เธออยากให้รัฐโอนหนี้ไปยังกองทุนและอยากให้เขาปล่อยกู้ให้ด้วย เพราะเมื่อเราเข้ากองทุนฟื้นฟู เราก็จะกู้ไม่ได้ ทำให้ไม่มีทุนมาทำนาต่อ 

นึกทำนา ทำไร่มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่โตมาก็ทำนาเลย มีลูกช่วยทำบ้าง ยุคนี้รู้สึกว่าลงทุนเยอะ ยุคก่อนลงแรง ยุคนี้ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยไม่ค่อยได้ผลผลิต ไม่ค่อยมีทุน ต้องลงทุน น้ำมันก็แพง อะไรก็แพงหมดทุกอย่าง หากินแย่ ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว รอให้เรื่องเข้า ครม. ถึงจะกลับ อยู่ที่นี่ ยุงกัด ก็มีซื้อมุ้งบ้าง มีคนซื้อมุ้งมาบริจาค ซื้อยากันยุงมาบริจาคบ้าง มีรถให้ขับถ่าย 2 คัน ถ้าอยากอาบน้ำ ก็มีให้เสียตังค์ 10-15 บาท

สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล อยากให้ช่วยเหลือพวกเรา พวกเราก็แย่ ไม่รู้จะพูดคำไหนแล้ว ให้เรื่องเข้า ครม. ช่วยโอนหนี้ให้เรา ให้เราได้กู้บ้าง ช่วยเหลือชาวไร่ ชาวนา อยากให้ช่วยเรา ให้เรากู้แบบไม่มีดอก ไม่มีใช้หนี้ ต้นทุนแพงกว่ารายได้ ปล่อยให้เรากู้ของรัฐบาล เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

Thai-farmers

‘อยากให้รัฐเร่งเอาหนี้เข้ากองทุน
ที่บ้านมีหนี้ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแล้ว ที่นาทำนาปีได้อย่างเดียว เพราะมันแล้ง
บางปีก็ไม่ได้ผลผลิต ไม่มีรายได้เลย’

น้าเก๋ อายุ 54 ปี ทำนาพื้นที่ 25 ไร่ ทำนาปี ไม่ได้ทำนาปรังเพราะไม่มีน้ำจะใช้ อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ครอบครัวน้าเก๋ทำนากันทั้งบ้าน บางปีก็ได้ผลผลิต บางปีก็ไม่ได้ผลผลิต ต้องประหยัดเอา ต้องเอาที่นาไปเข้า ธกส. เพื่อเอาเงินไปซื้อปุ๋ย ไม่มีเงินใช้หนี้ ดอกเบี้ยก็เพิ่ม บางปีน้ำแล้ง น้ำไม่พอ ได้น้อย ผลผลิตน้อยก็ไม่มีเงินใช้หนี้

น้าเก๋เล่าว่า เดินทางมากรุงเทพฯ ตั้งแต่คืนวันที่ 23 มกราคม 2565 ซึ้อของมาขายด้วย เช่น ทิชชู หน้ากากอนามัย ยางรัดผม กางเกงชั้นใน ผงซักฟอก เสื้อยืด ฯลฯ เพื่อเอาเงินมาใช้ขณะที่ออกมาเรียกร้อง อยู่ที่นี่ก็มีต้องเสียเงินขณะไปอาบน้ำบ้าง น้าเก๋มีหนี้ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแล้ว ทำให้กู้เงินเพิ่มไม่ได้ จะมาค้าขายก็ทำไม่ได้ เพราะมีชื่อเป็นหนี้เสีย ถ้าเอาหนี้เข้ากองทุนฟื้นฟู ก็จะสามารถกู้เงินออกมาหาเลี้ยงชีพได้

Thai-farmers

อำนวย คันทะทรัพย์ อายุ 71 ปี ทำนา 20 ไร่ จากเมื่อก่อนทำนาเป็น 100 ไร่ ต้องลดพื้นที่ทำนาลงเพราะไม่มีทุนทำต่อ ต้องเอานาไปคืนเจ้าของ เจ้าของที่นาก็ทำนาไม่เป็นอีก ตอนนี้ เป็นหนี้ ธกส. แสนกว่าบาท เดินทางมากรุงเทพฯ ตั้งแต่ 23 มกราคม

อยากให้ควบคุมราคายา ปุ๋ย ทำนาหนึ่งไร่ต้องใช้ปุ๋ย 1 ลูกครึ่ง ใช้ปุ๋ยลูกละ 1,500 บาท ไหนจะค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาทต่อครั้ง ค่าไถนาอีกไร่ละ 200 บาท ค่าย่ำนาอีกไร่ละ 200 บาท ไหนจะค่าพันธุ์ข้าว 550-600 บาทต่อ 1 ไร่ ยาคุมไม่ให้หญ้าขึ้นขวดละ 400 บาท หนึ่งขวดใช้ได้ 5 ไร่ ไหนจะยาฆ่าหญ้าที่เกิดขึ้นหลังปลูกได้ 10 วัน ยาฆ่าหญ้านี้ค่อนข้างแพง ไหนจะค่าเช่า ค่าเกี่ยว ค่าเข็น ถ้าสูบน้ำ วันหนึ่งเป็น 1,000 บาท ชั่วโมงละ 45 บาท ชั่วโมงละลิตรต่อ 1 เครื่อง รวมๆ ต้นทุนผลิต 8,000 กว่าบาท

แต่รายได้จากการทำนาไม่เกิน 6,700 ต่อเกวียน หนึ่งเกวียนก็ประมาณ 1 ตัน ต้องได้ไร่ละตันถึงจะได้ 6,700 บาทโดยเฉลี่ย ไร่นึง 800-1,000 กิโลกรัม ทำนาไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลผลิตตามที่ต้องการทุกครั้ง

เจ้าของนาก็อยากให้ทำนา เพราะถ้าเราไม่ทำนา เขาก็ไม่ได้ค่าเช่า

อยากฝากถึงรัฐบาล อยากให้ช่วยคุมราคาปุ๋ย ราคายาให้บ้าง ตอนสมัยยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ค่าปุ๋ย 400 บาท ยุคนี้ค่าปุ๋ยสูงถึง 1,500 บาท แต่ผลผลิตได้เพียง 6,500 บาทเท่านั้น ค่าน้ำมันก็แพงอีก พอให้เด็กที่เป็นลูกของเจ้าของที่นามาทำนาบ้าง เด็กก็ยังทำนาไปร้องไห้ไป เขาอยากให้ขายที่นาทิ้งด้วยซ้ำ เขาเหนื่อย ตอนนี้ก็บอกว่าเริ่มจะขายที่นาออกไปบ้างแล้วเพราะไม่มีคนทำต่อ

Thai-farmers

‘อยากให้รัฐประกันราคาอ้อยให้สูงขึ้น
อ้อยมีราคาไม่แน่นอน ราคาขึ้นๆ ลงๆ
ปีนี้ได้ตันละ 1,000 บาท ปีหน้าก็ไม่แน่ว่าจะได้ราคานี้’

อำพร สังข์สุด อายุ 68 ปี เดิมก็ทำนามาก่อน จากนั้นก็หันมาทำไร่อ้อย 20 กว่าปีแล้ว ไร่อ้อยพื้นที่ 55 ไร่ มีทั้งเช่าเขาและมีทั้งของตัวเองบ้าง อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคาอ้อยบ้างให้ได้ราคาตันละ 1,200 บาท ปีนี้เพิ่งจะได้ราคาตันละ 1,000 บาท อ้อยก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็ทำให้ไม่ค่อยได้ผลผลิต อยากให้รัฐประกันราคาอ้อยเพราะอ้อยมีราคาไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ปีนี้ได้ 1,000 บาท ปีหน้าก็ไม่แน่ว่าจะได้ราคานี้ 

ตอนนี้มีหนี้ ธกส. ประมาณ 2.5 แสนบาท หนี้สหกรณ์ประมาณ 2 ล้านบาท จากตอนแรก 1.6 แสนบาท พอไม่ได้ผลผลิตจึงหยุดจ่ายหนี้ตั้งแต่ปี 2561 ดอกเบี้ยก็ยังถูกคิดต่อจนเป็น 2 ล้านบาท อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาอ้อยและหนี้ของชาวนา เอาเรื่องเข้า ครม. เร็วๆ 

Thai-farmers

‘ควรให้ข้าว เป็นสินค้าควบคุม
รัฐควรออกแบบสอบถาม ตั้งราคาเป็นมาตรฐาน
ให้โรงสี’

ปรีชา คล้ายเปีย อายุ 65 ปี ตอนนี้ทำนา 20 ไร่ ก่อนหน้านี้ทำนามากถึง 150 ไร่ แต่ต้องลดจำนวนการทำนาลงเพราะขาดทุน เกวียนละ 6,000 บาท ไม่มีคนสืบทอดต่อเพราะราคาข้าวลดลงต่อเนื่อง ปกติทำนาปรัง เป็นพื้นที่นาที่เช่ามาอีกที ปีไหนไม่มีผลผลิตก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่นาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ให้ทำนาต่อ น้ำท่วม ภัยแล้ง เจ้าของที่นาก็ยังเก็บค่าเช่านาต่อไป 

ทำนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้านี้ไม่มีรถย่ำก็เก็บขี้วัว ขี้ควาย เริ่มออกเกี่ยวข้าวช่วง 14-15 ปีแล้ว เริ่มมีเครื่องยนต์ในการทำนา เริ่มเปลี่ยนเป็นรถไถ รถตีดิน พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ล้วนต้องลงทุนทั้งนั้น ต้องแข่งกับความเจริญมากขึ้น มีหนี้อยู่ 8 แสนบาทเป็นหนี้ ธกส. ต้องเอาที่ดินของตัวเองประมาณ 9 ไร่ไปไว้ธนาคาร เริ่มทำสวนแบบเกษตรพอเพียงได้ 7 ปี หนี้ ธกส. ก็ขาดส่งบ้าง ธนาคารก็ยังคิดดอกเบี้ยเช่นเดิม

ถ้าราคาข้าวดีเกวียนละ 10,000 บาทก็จะยังพอมีเงินเหลือแสนกว่าบาทให้พอส่งหนี้บ้าง แต่นี่ราคาข้าว 6,000 กว่าบาท สินค้ามีทะเบียนทำไมรัฐบาลไม่ควบคุม เวลาข้าว ควรควบคุมราคาให้ได้สัก 12,000 บาท อยากให้ควบคุมราคาสินค้า ให้ตั้งราคาข้าวที่ยุติธรรมกับชาวนา ควรถามความเห็นกับชาวนา ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันออกแบบสอบถามแก่ชาวนา ว่าข้าว 1 เกวียนอยากได้ราคาเท่าไร เสียงส่วนมากต้องการเกวียนละเท่าไร

ควรตั้งราคาให้เป็นมาตรฐาน แต่นี่ไม่ได้ตั้งราคา โรงสีอยากซื้อ 6,500 บาทก็ซื้อ อยากซื้อ 6,200 บาทก็ซื้อ ปล่อยให้โรงสีตีราคา ไม่ยอมควบคุมราคาข้าว ต้นทุนมาตั้ง 8,000 บาท ขายได้ 6,000 กว่าบาท ขาดทุนไปเท่าไรแล้ว ชาวนากว่าจะได้ข้าวใช้เวลาถึง 4 เดือน รัฐดูแลราคาน้ำมันได้ แต่ข้าวทำไมไม่ควบคุมดูแล ปล่อยให้โรงสีตั้งราคาข้าวเอง ผิดที่ใคร ผิดที่รัฐบาลหรือผิดที่ชาวนา?

ทำนายุคนี้ไม่ได้ลำบากกว่ายุคก่อน ทำง่ายขึ้นเพราะมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีมาช่วย แต่ทำนายุคนี้ต้นทุนสูงกว่ายุคก่อน มีค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ใช้ควายพอแก่ ขายก็ยังได้ราคา แต่รถออกมาเมื่อขายออกไปก็ได้ราคาต่ำกว่าเดิม ยุคทักษิณกับยุคยิ่งลักษณ์ราคาเกวียนละหมื่นกว่าบาท ก็ถือว่าเจริญรุ่งเรืองอยู่พักนึง

ฝากถึงรัฐบาล รัฐบาลควรประกันราคาข้าว ให้เป็นสินค้าควบคุม เมื่อรัฐไม่กำหนดราคา ปล่อยให้โรงสีกำหนดราคา สินค้าเกษตรควรควบคุมได้เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น เพื่อจะได้ทำให้ข้าวเป็นสินค้าควบคุมได้ อยากให้รัฐบาลโอนหนี้เข้าธนาคารโดยเร็ว เอาชื่อเข้า ครม. เสียที จะได้จบ จะได้กลับบ้าน มีแต่คนสูงวัยทั้งนั้นที่ออกมาต่อสู้ รุ่นก่อนนี้ก็สู้กันมาตั้งแต่ปี 2541-2542 แล้ว รัฐบอกว่าติดกฎหมาย ก็แก้กฎหมายเสีย

Thai-farmers

ทำไม อาชีพชาวนาอาจล่มสลายได้?

การทำนาในยุคปัจจุบัน รายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การทำนาเป็นงานหนัก งานเหนื่อย คาดการณ์รายได้และผลผลิตค่อนข้างยาก คนรุ่นใหม่เห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ลำบากมากเกินไป ทำนาไปคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น จึงตัดสินใจไม่สานต่ออาชีพทำนา

การแก้ปัญหาของรัฐ การช่วยเหลือของรัฐค่อนข้างช้ามากจนน่าประหลาดใจ ทั้งที่เห็นผลลัพธ์อยู่ตรงหน้าว่ารายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต แต่ก็ยังไม่เร่งแก้ไข อาจเรียกได้ว่าปัญหาจากการทำนาในมุมมองของรัฐอาจไม่สำคัญ ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนเพียงพอจะทำให้รัฐเร่งลงมือแก้ไขได้ เมื่อรัฐเป็นกลไกเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ กลับแก้ปัญหาช้า ก็ทำให้คนทำนาที่เหลืออยู่ยิ่งหมดกำลังใจจะทำนาต่อ แน่นอนว่าคนรุ่นปัจจุบันที่ทำนาอยู่รู้สึกทดท้อแล้ว จะหวังให้คนรุ่นใหม่อยากทำนาต่อ คงเป็นเรื่องยาก

ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลังสานอาชีพการทำนาต่อไป อีกไม่นานอาชีพชาวนาคงล่มสลาย อาจจะเหลือแค่นายทุนที่เป็นเจ้าของที่นา เป็นเจ้าของการผลิต ราคาข้าวที่ผลิตในประเทศอาจแพงขึ้นจนนำไปสู่การนำเข้าข้าวเพราะไม่มีกำลังผลิตภายในประเทศมากเพียงพอ

Thai-Farmers

นอกจากปัญหาหนี้ที่ถาโถมเพราะทำนาไม่ได้ผลผลิตแต่ดอกเบี้ยยังเดินหน้าคำนวณต่อไป ยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งซ้ำซากที่รัฐแก้ปัญหาไม่ได้ ต้นทุนการผลิตแพงกว่ารายได้ ไม่มีทายาทสานต่อการทำนา ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตคนทำนาดีขึ้น คงอีกไม่นานที่อาชีพนี้อาจต้องล่มสลาย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา