ปัญหาใหญ่ WFH ฝืนทำงานทั้งๆ ที่ป่วย การสำรวจล่าสุดในสิงคโปร์พบกว่า 59% ที่ “ไม่ต่อต้าน” การทำงานทั้งๆ ที่ไม่สบาย บริษัทต้องสนับสนุนให้คนลามากขึ้น
59% ไม่ค้าน ทำงานทั้งป่วย
หลายๆ คนคงเคยตกอยู่ในสภาพที่ลาป่วยไป แต่อีกแวบหนึ่งก็ต้องเปิดคอมมานั่งทำงานหรือตอบงานเพื่อนร่วมงานเพราะไม่อยากให้โปรเจกต์สะดุด หรือหนักกว่านั้นก็คือรู้สึกป่วยแต่ไม่กล้าขอลา
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการทำงานในช่วง Work From Home ที่พบเห็นมากขึ้น คือการที่คนทำงานฝืนทำงานทั้งๆ ที่กำลังป่วย และถึงลางานไปใจยังอยู่ที่บริษัท
สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจล่าสุดในสิงคโปร์คือ ในบรรดาผู้คนที่เลือกทำงานต่อไปแม้ว่าจะกำลังป่วยอยู่ มีกว่า 59% ที่ “ไม่ต่อต้าน” การทำงานทั้งๆ ที่ไม่สบาย
นอกจากนี้ การสำรวจดังกล่าวซึ่งครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 7,500 คนในหลากอุตสาหกรรมยังพบอีกว่า กว่า 68% ไม่ได้ใช้วันลามาเป็นเวลากว่า 12 เดือน แล้วเป็นที่เรียบร้อย
ทำงานตอนป่วย มีราคาที่ต้องจ่าย บริษัทต้องระวัง
Leong CheeTung ผู้ก่อตั้ง EngageRocket ชี้ว่า “การทำงานทั้งๆ ที่ป่วยจะสร้างภาระทางจิตใจสะสมให้กับคนทำงาน ซึ่งในท้ายที่สุดอาจจะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าที่คิด” ดังนั้น เขาจึงสนับสนุนให้คนทำงานได้พักผ่อนเมื่อป่วย และเขาคิดว่านี่คือทางที่ดีกว่าต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน
การให้พนักงานพักผ่อนเมื่อป่วย ฟังเหมือนง่ายแต่เอาเข้าจริงไม่ง่าย เพราะหากองค์กรไม่ได้แสดงถึงความเข้าใจเข้าอกเข้าใจและยังกดดันให้พนักงานทำงานหนักอย่างไม่คำนึงถึงเหตุและผล พนักงานก็ไม่กล้าลาป่วยเมื่อป่วย หรือถึงลาไปแล้วก็ยังแวบมาทำงานอยู่ดี
“ควบคู่กับการให้สิทธิลาตามกฎหมายแล้ว คนทำงานจำเป็นต้องมีความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยาในการขอลาป่วยเมื่อจำเป็น” Antoinette Patterson ซีอีโอ Safe Space สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิตกล่าว
“นายจ้างและ HR หลายๆ คนควรจะทำได้ดีกว่านี้ในการสนทนากับพนักงานอย่างเป็นเผย และสนับสนุนลงมาเลยว่าพนักงานสามารถลาและใช้สิทธิ์อะไรก็ตามที่พวกเขามีได้” เธอเสริม
เห็นได้ชัดว่าความเชื่อใจและการสนทนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานรู้สึกสะดวกใจที่จะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาในการขอลาพัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา