ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยข้อมูลคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 ยังคงไม่กลับไปยังจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจอีก โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวโดยจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.8% ส่วน สหรัฐฯ และจีน คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.5% และ 4.5% ตามลำดับ
ซิตี้แบงก์ ชี้เศรษฐกิจไม่ปกติ แต่ไม่แย่เหมือนก่อนหน้า
เคน เพ็ง นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2565 นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าจะไม่กลับไปยังจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก็จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยจะขยายตัวอยู่ที่ราว 3.8% เนื่องด้วยหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการชดเชยทางการเงินขนาดใหญ่จากผลกระทบของโควิด-19 ธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2 ปีต่อจากนี้”
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3.5% โดยได้รับอานิสงส์จากภาคบริการที่กลับมามีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากแรงลมหนุนท้าย (tailwind) ส่วนประเทศจีนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% โดยมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการควบคุมในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งสินค้าออกไปยังจีน และในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วน
ด้านกำไรต่อหุ้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 53% ในปี 2564 น่าจะเติบโตช้าลงเป็น +7 ถึง 8% ภายในปี 2565-2566 ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (10-year US Treasuries) จะเพิ่มผลตอบแทนเป็น 2.1% ภายในสิ้นปี 2565 แม้ว่าโควิดอาจทำให้อัตราผลตอบแทนปกติช้าลง นอกจากนี้นักวิเคราะห์ซิตี้ประมาณการผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ 8% ในขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1% ถึง 0% อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดเพิ่มเติมได้ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีน หรือความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซียที่อาจเลวร้ายลง ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว
เปิด 3 ธีมการลงทุนในปี 2565
แม้ว่าภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ซิตี้มีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฏจักรในอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเล็งเห็นโอกาส โดยเน้นที่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการถือครองเงินสดหรือตราสารหนี้ ดังนั้นแนะนำกระจายการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย โดยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2565 สามารถแบ่งเป็น 3 ธีมการลงทุนด้วยกัน ประกอบด้วย
- Long term leaders – เปลี่ยนการลงทุนระยะสั้นเป็นการลงทุนในกลุ่มผู้นำระยะยาว แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและสม่ำเสมอมากที่สุด คือ กลุ่มไอทีเทคโนโลยี กลุ่มการดูแลสุขภาพ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
- Beat the cash thief! – เอาชนะการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้หลายบริษัทต้องมีการจัดการภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก คาดว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ไฮยีลด์ พันธบัตรสหรัฐอเมริกา
- Unstoppable trends – เทรนด์การลงทุนที่ยังมาแรงคือกลุ่มพลังงานสะอาด รวมถึงความพยายามในการลดต้นทุนอันเห็นได้จากภาครัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกเป็นสีเขียว (greening the world) รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชันของทั้งบริษัทสหรัฐฯ หรือจีนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนกลุ่มการดูแลสุขภาพที่พบว่ามนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา