ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการซื้อรถยนต์และความสนใจของผู้บริโภคต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อสะท้อนแนวโน้มความต้องการของตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งได้ผลสำรวจที่น่าสนใจว่า
สำหรับตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) คาดว่าจะเป็นประเภทรถที่ผู้บริโภคอาจให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาส่วนเพิ่มจากรถรุ่นใกล้เคียงไม่สูงเกินกว่า 200,000 บาท
Plug-In Hybrid ใช้พลังงาน 2 อย่าง ดูมั่นใจกว่า
ความสนใจต่อรถยนต์ Plug-In Hybrid เนื่องจากรถยนต์ดังกล่าวดูเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจในตลาด รวมถึงการที่สามารถเลือกเติมพลังงานในการขับเคลื่อนให้รถยนต์ได้ถึง 2 ประเภท ทำให้สะดวกต่อการใช้งานมากกว่าแบบที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม หากมีการพัฒนารถยนต์ประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน มุมมองของผู้บริโภคต่อประเภทรถที่สนใจอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
จากผลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีแผนจะซื้อรถยนต์ภายในปี 2560 คิดเป็น 29.3% และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่คิดจะซื้อรถมีความสนใจนำเอารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาเป็นตัวเลือกหนึ่งหากมีการนำออกมาทำตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 74% แสดงความสนใจในตัวรถยนต์ Plug-In Hybrid ตามด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฮบริดซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันตามลำดับ
จ่ายเงินเพิ่มไม่เกิน 200,000 บาท ถือว่าโอเค
เงินส่วนเพิ่มที่ผู้ซื้อคิดว่าจะยอมจ่ายเพื่อซื้อรถในกลุ่มดังกล่าว พบว่า ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับระดับรายได้และประเภทรถที่คิดว่าจะซื้อ รวมถึงมุมมองของผู้บริโภคต่อประเด็นการลดภาษีสรรพสามิตของภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าราคาที่เพิ่มขึ้นไม่ควรสูงมากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว
จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามถึงกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มมีระดับรายได้สูง ก็ยังมองว่าราคาส่วนเพิ่มของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าไม่ควรเกินกว่า 200,000 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจที่สะท้อนว่า ผู้ที่คิดจะซื้อรถยนต์ในปีนี้และรับพิจารณารถพลังงานไฟฟ้าเป็นตัวเลือกหนึ่งส่วนใหญ่กว่า 76% นั้นมองว่าระดับราคาที่จะเพิ่มขึ้นมาจากราคารถยนต์ปกติรุ่นใกล้เคียงกันไม่ควรเกิน 200,000 บาท
หากแยกรถพลังงานไฟฟ้าแต่ละประเภทออกจากกันเพื่อจะได้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นถึงความยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนเพิ่มของรถยนต์แต่ละประเภทพบว่า ยิ่งระดับเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นระดับความยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนเพิ่มก็มากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ไฮบริดผู้ซื้อส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่พบว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะจ่ายสูงถึง 1,000,000 บาทเลยทีเดียว โดยสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่ยินดีจะจ่ายเพิ่มสูงมักเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับรายได้ค่อนข้างสูงขึ้นไป
กลยุทธ์สร้างความต้องการให้ผู้บริโภค
การชี้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงจุดเด่นด้านการประหยัดค่าพลังงาน โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่ผู้บริโภคถึง 77.4% มองว่าเป็นประเด็นที่จะทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันรถพลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยน้อยกว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงมากกว่าครึ่ง ในการวิ่งระยะทางเท่ากัน
ระดับราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับรถในรุ่นใกล้เคียง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญรองลงมาที่สัดส่วน 67.5% ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าระดับราคาไม่ควรสูงเกินกว่า 200,000 บาทเทียบกับรถรุ่นใกล้เคียง
สมรรถนะในการขับขี่และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีการให้ความสำคัญในระดับพอกันที่ประมาณ 40%
การใช้งานฟังก์ชั่นที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น และความดูดีทันสมัย ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า 4 ปัจจัยแรก โดยมีสัดส่วน 28.3% และ 17.8%
ข้อกังวลใจผู้บริโภคที่ รัฐ-เอกชน ต้องเร่งแก้
ความกังวลว่าสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าอาจมีไม่ทั่วถึง 69.7% มองปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำหรับรถพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพาแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นรัฐบาลและผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนถึงความคืบหน้าในการวางโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเปิดตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ในต่างประเทศมีการลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟกำลังสูงโดยเอกชน ทั้งแบบการลงทุนโดยค่ายรถที่อยู่ในธุรกิจรายเดียว หรือแบบลงทุนร่วมกันหลายราย ส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐไทยในเรื่องปริมาณพลังงานไฟฟ้ารองรับนั้น ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน จนถึงปี 2579 เพื่อรองรับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 1.2 ล้านคัน ในอนาคต
ความกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงและราคารถยนต์ที่ค่อนข้างสูง มีสัดส่วนอยู่ที่ 60.2% และ 58% ตามลำดับ และเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคแสดงออกถึงความกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการถือครองรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดูแลซ่อมบำรุงในระยะยาว
ความกังวลเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้าต่อครั้ง และแบตเตอรี่มีราคาสูง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามที่สัดส่วน 41.1% และ 33.4% ตามลำดับ โดยระยะเวลาในการชาร์จไฟที่นานอาจเป็นปัญหาหากต้องเดินทางไกลออกต่างจังหวัด หรือแบตเตอรี่หมดระหว่างวันขณะอยู่นอกที่พักอาศัย โดยเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ดังนั้นการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วให้กระจายทั่วถึงในจุดสำคัญ และให้มีบริเวณที่สามารถพักผ่อนหรือมีกิจกรรมทำระหว่างรอชาร์จไฟ
สรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้บริโภคเริ่มมีการรับรู้ถึงตัวรถพลังงานไฟฟ้า และเริ่มมีความสนใจในการครอบครองรถยนต์ประเภทนี้ ส่วนทางด้านซัพพลายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ตลาดรถพลังงานไฟฟ้าเติบโตได้ดีในไทย
สำหรับ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า จะเป็นธุรกิจหลักหนึ่ง เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหากต้องการให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในวงกว้างต่อไปในอนาคต และยังรวมไปถึง อุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าแบบพกพา เพื่อความสะดวกหากเกิดเหตุพลังงานหมดในที่ๆ ไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้า นอกจากนี้ธุรกิจเพื่อการพักผ่อนหรือทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงแบบใช้เวลาไม่นานที่อยู่ภายในสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถมีกิจกรรมทำระหว่างช่วงเวลารอชาร์จไฟฟ้า ยังเป็นอีกประเภทธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดี
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา