รายงานจากเกียรตินาคินภัทร ประเด็น “จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2022: Omicron กระทบเศรษฐกิจมากแค่ไหน” ประเมินว่า Omicron กระทบต่อเศรษฐกิจน้อยลง หากเทียบกับการระบาดในรอบก่อนๆ เนื่องจาก สัดส่วนการป่วยเข้าโรงพยาบาลจากโควิดสายพันธุ์ Omicron มีตัวเลขต่ำลง ส่วนหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการระบาดครั้งก่อนๆ
สำหรับไทย การระบาดของโควิดในรอบปัจจุบันจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวางแต่น่าจะจบลงเร็วกว่ารอบก่อนๆ อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ขณะเดียวกันรัฐมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับโควิดมากขึ้น โดยหลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนและไม่ออกมาตรการปิดเมือง ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ประชาชนเหนื่อยล้ากับการปิดเมืองเป็นเวลานานและการรับวัคซีนมากขึ้น ทำให้ความกังวลลดลง หันมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
- การระบาดของ Omicron จะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักจากความระมัดระวังของผู้บริโภค และข้อจำกัดจากภาครัฐที่มีมากขึ้น แต่จะไม่นำไปสู่การปิดเมืองอย่างรุนแรงแบบการระบาดในรอบก่อน หากการบริโภคและการลงทุนลดลงพร้อมกัน 1%-2% ในระยะ 1 เดือน (เทียบกับรอบก่อน 2%-5%) จะกระทบตัวเลข GDP ทั้งปีประมาณ 0.06%-0.12% เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
- การระบาดมีแนวโน้มจบลงเร็ว การฟื้นตัวการท่องเที่ยวจะชะลอออกไป แต่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2022 จะกลับเข้ามาได้ประมาณ 5.8 ล้านคนช่วงครึ่งหลังของปี
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2022 จะเติบโตได้ระดับ 3.9% ถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2020 ที่ 6.1% และปี 2021 คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาเพียง 0.9% โดยการบริโภคและการท่องเที่ยวเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ความเสี่ยงที่ต้องจับตา
หากรัฐมีนโยบายสาธารณสุขที่จัดให้คนติดเชื้อที่มีความเสี่ยงต่ำต้องรักษาในโรงพยาบาล อาจทำให้ระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น คนสูงอายุไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เป็นจำนวนมาก กรณีเลวร้ายที่การระบาดนำไปสู่การปิดเมืองจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก ดังนี้
- การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือที่พักและอาหาร การขนส่ง การค้า และจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน
- หากนักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีนี้ คาดการณ์ว่า GDP ปี 2022 จะเติบโตน้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- แรงกดดันต่อค่าเงินบาทในทิศทางอ่อนค่าจะรุนแรงขึ้นมาก
ที่มา – KKP Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา