หลังจากที่เกษตรกรเลี้ยงหมูได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด (African Swine Fever: ASF) ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูล้มหายตายจากไปกว่า 80-90% ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงเสนอทางเลือกให้ชุมชนหันมาสร้างทักษะเลี้ยงหมูหลุม คือการเลี้ยงหมูแบบเดิมที่ผู้เลี้ยงไม่อยากให้หมูวิ่งเพ่นพ่าน พื้นที่เลี้ยงน้อยจึงขุดหลุมลึกประมาณ 1.5-2 เมตรเพื่อเป็นคอกสำหรับเลี้ยงหมู โดยมีวัสดุรองพื้นหลุมและอาหารหมูเป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องที่นั้นๆ
จากกรณีโรคระบาดหมูจนเกิดวิกฤตราคาหมูสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เจ๊จง จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จงแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ระบุว่า อยากให้ภาครัฐตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และอยากให้ลงพื้นที่เพื่อสัมผัสปัญหาด้วยตนเอง อย่าเพียงแค่ฟังจากรายงาน ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาล่าช้า อยากให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
จะนำเข้าหมูต้องรอบคอบ ไทยเจอปัญหาหนักเพราะจัดการปัญหาโรคระบาดไม่ชัดเจน
ด้านวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ระบุว่า ราคาหมูในไทยแพงอันดับต้นๆ ของโลก ราคาหมูมีชีวิตที่จำหน่ายหน้าฟาร์มจากประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่สูงกว่าทวีปอเมริกาใต้ที่ราคาหมูน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว หรือในยุโรปที่มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ในแถบเอเชีย ไทยก็มีราคาแพงที่สุด มากกว่าจีนและเวียดนามที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 80 บาทและ 60 บาทตามลำดับ รัฐบาลประเมินมูลค่าความเสียหายต่อภาคการผลิตจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท
วิฑูรย์ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลของจีนพบว่า การเกิดโรคระบาดตั้งแต่ปลายปี 2560 หมูได้หายไปจากตลาดชัดขึ้นจนส่งผลให้เกิดการปรับราคาหมูสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 18 เดือน จีนแก้ปัญหาการขาดแคลนหมูด้วยการสั่งนำเข้าเนื้อหมูจากออสเตรเลีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ จนสามารถทำให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลได้
ผลกระทบของไทยรุนแรงกว่าในจีนเพราะความไม่ชัดเจนในการประกาศเรื่องการระบาดของโรค และการเร่งระดมส่งออกหมูไปจำหน่ายต่างประเทศมากถึง 2.7 ล้านตัวแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน จากปกติส่งออกเพียง 500,000-700,000 ตัวเท่านั้น หากไทยต้องการแก้ปัญหาด้วยการส่งนำเข้าหมูจากต่างประเทศก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบอาจส่งผลเสียต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้ การห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพึงระวัง เพราะหากยกเลิกมาตรฐานดังกล่าว กำแพงด้านสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยก็จะถูกทำลายลงด้วย
ต้องแก้ปัญหาโรคระบาดพร้อมปัญหาทางการเงิน ปริมาณหมูจะได้ไม่ไหลไปสู่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่เท่านั้น
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ระบุว่า หากดูสัญญาณจากประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกามาตั้งแต่ปี 2562 ในหลายประเทศแถบเอเชีย แต่สำหรับไทยกลายเป็นช่วงเวลาที่สามารถส่งออกหมูไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้นเนื่องจากปัญหาขาดแคลนหมูจากโรคระบาด มูลค่าส่งออกหมูสูงถึง 10,000 ล้านบาทจากปกติจะอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท ไทยเริ่มพบยอดส่งออกลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา จนกระทั่งธันวาคม ปี 2564 ก็เกิดภาวะเอาไม่อยู่ ราคาหมูเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างที่เราเห็น เพราะปริมาณหมูในตลาดหายไปประมาณ 20-30% หรือประมาณ 5-6 ล้านตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หายไปเฉพาะหมู แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยก็หายไปด้วย เนื่องจากต้องแบกรับหนี้สินจากปัญหาดังกล่าว ที่จะกลับมาได้ก็ต้องพึ่งพาระบบการเงินซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะ การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งโรคและการเงินด้วย ถ้าผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางไม่กลับมา ปริมาณหมูจะไหลไปสู่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของประเทศเท่านั้น ราคาหมูที่พุ่งสูงในช่วงกลางธันวาคมเกิดจากการเก็บสต็อกเนื้อหมูไว้จำนวนหน่งและปล่อยออกมาเมื่อสินค้าขาดตลาด จึงเป็นสาเหตุหมูราคาแพงขึ้นมาก รัฐต้องเร่งชี้แจง สร้างความเข้าใจ
ด้านวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN ระบุว่า การระบาดส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 80-90% ไปไม่รอด การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูมีตั้งแต่ปี 2562 ในจังหวัดราชบุรี ต้องสูญเสียมากกว่า 2 ล้านตัว แต่ภาครัฐไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใดๆ ในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างชัดเจน ไม่ได้ให้คำแนะนำในการกำจัดหมูติดเชื้อแก่เกษตรกร ไม่มีการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกรส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งขายหมูที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสีย ทำให้การกระจายของโรครุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการส่งไปชำแหละในโรงฆ่าเถื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาต รัฐควรเร่งเข้ามาจัดการโดยเร็วที่สุด
ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า สอบ. พยายามจะทำให้ราคาหมูเป็นธรรมที่สุดสำหรับผู้บริโภค ปัญหาการขาดแคลนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหมูแพง ดูเหมือนรัฐบาลจะจัดการปัญหาดังกล่าวไม่ได้ นอกจากการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการนำเข้าหมู ก็ต้องไม่สนับสนุนเงื่อนไขที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง การลดปริมาณลงของเกษตรกรเลี้ยงหมู อาจเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในอนาคต ทาง สอบ. เสนอให้ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงหมูหลุมในพื้นที่ที่ไม่เกิดการระบาด อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นทางออกช่วยบรรเทาปัญหา
ด้านวิเชียร เจษฎากานต์แนะนำว่า การเลี้ยงหมูในคอกดินหรือหมูหลุม ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้มากเพราะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมไม่แออัดและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเกษตรกร สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากการผลิตหลักตกไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัท การปล่อยให้มีการเลี้ยงหมูในฟาร์มขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้รายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ความหลากหลายในการผลิตอาหารของไทยอ่อนแอลง ต้องทำให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสในการผลิตอาหารป้อนสู่ตลาดได้ ทำอย่างไรให้เกิดกลไกการผลิตที่เอื้อตั้งแต่รายใหญ่ถึงรายย่อยในลักษณะส่งเสริมกันทั้งความรู้และเงินทุนให้กลไกแข็งแกร่ง
ที่มา – สภาองค์กรของผู้บริโภค
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา