Nikkei Asia รายงาน คณะรัฐมนตรีมีมติเตรียมซื้อเครื่องบินรบ 4 ลำ งบประมาณรวม 1.38 หมื่นล้านบาท (413.67 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยพลอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ เปิดเผยว่า ตั้งใจจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวน 8 ลำจากบริษัท Lockheed Martin สหรัฐอเมริกา โดยพลอากาศตรี ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้งบประมาณเป็นระยะเวลา 4 ปีเริ่มในปี 2023 เพื่อใช้แทนเครื่องบินขับไล่ F-16 รุ่นเก่า
ปัจจุบัน ไทยมีเครื่องบินขับไล่กริพเพน หรือ JAS-39 Gripen ที่ผลิตโดยบริษัท Saab สัญชาติสวีเดนอยู่ 12 ลำ มีเครื่องบินขับไล่ F-16 และเครื่องบินขับไล่ F-5 บางลำนำมาใช้งานตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 โดยพลอากาศเอกนภาเดชสนใจที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 รุ่นที่ 5 เนื่องจากเห็นว่าราคาของเครื่องบินนี้ลดลงต่อเนื่อง เครื่องบินขับไล่ F-35A ราคาอยู่ที่ 221 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2007 หลังจากนั้นเมื่อเริ่มพัฒนาความรู้ในการผลิตมากขึ้น ราคาเครื่องบินก็ลดลงมาอยู่ที่ 79 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.6 พันล้านบาทในช่วงกรกฎาคมปีที่ผ่านมา มีหลายสิบประเทศที่ให้ความสนใจเช่นกัน
เรื่องนี้ พลอากาศตรี ประภาส สอนใจดี ระบุเมื่ออังคารที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาทของกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนกองทัพอากาศนี้ได้อยู่ในคำของบประมาณปี 2023 ของกระทรวงกลาโหต่อไป หากผ่านขั้นตอนและกระบวนการเพื่อให้รายการนี้ได้บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2023 ที่จะต้องนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว กองทัพอากาศก็จะได้เตรียมการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ระหว่างนี้กองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำความต้องการของโครงการ โดยมี พลอากาศเอก ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน เพื่อให้พิจารณาความเหมาะสมในรายละเอียดในทุกด้านให้รอบคอบ รวมทั้งข้อมูลทางเทคนิคให้สอดคล้องกับสภาพงบประมาณที่กองทัพได้รับจัดสรรให้มากที่สุด ก่อนการนำเสนอตามกระบวนการของบประมาณ
โดยขอยืนยันว่าการเตรียมการเสนอโครงการซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาศึกษารวบรวมข้อมูลอย่างถี่ถ้วนทั้งหมดนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ความมั่นคงและอธิปไตยของชาติเป็นสำคัญ การจัดหาเครื่องบินสมรรถนะสูงทดแทน ต้องใช้เวลาในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมีความพร้อมสามารถปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศได้ ต้องใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 10-12 ปีและจะอยู่ประจำการในกองทัพต่อไปอีกประมาณ 40 ปี
- ขึ้นทุกร้าน! ชาบูบุฟเฟต์ร้านดังขึ้นราคากว่า 10% ต้นทุนเนื้อหมู-น้ำมันพุ่ง แถมต้องกัน COVID-19
- เมนูหมูอยู่ไม่ไหว! หมูทอดเจ๊จง ขึ้นราคาเป็น 300 บาท/กก. คอหมูพระราม 5 ขอขายเมนูไก่แทน
- วิจัยกสิกร คาด เนื้อหมู ปี 2565 ขาย 190-220 บาท/กก. แพงขึ้น 30% เนื้อไก่-ผัก เตรียมขึ้นราคาตาม
ที่มา – Nikkei Asia, กองทัพอากาศ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา