“นวัตกรรม” เข้ามามีบทบาทกับหลากหลายธุรกิจ ไม่เว้นธุรกิจจำหน่ายเนื้อสัตว์ เพราะทาง Betagro เลือกใช้แนวทางนี้ในการปั้นแบรนด์ S-Pure มานานกว่า 10 ปี ผ่านการใส่ความแตกต่างด้านการผลิต และรักสุขภาพ
Value-Added คือแนวคิดหลัก
จริงๆ แล้วสินค้าเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ หรือเนื้อหมู ต่างเป็นสินค้าที่คนไทยรับประทานเป็นประจำ และมองว่าหาซื้อที่ตลาดสด หรือภายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำก็ได้เนื้อสัตว์เหมือนกัน ดังนั้นการแข่งขันของผลิตภัณฑ์นี้ก็คงไม่พ้นเรื่องราคา แต่ถ้าอยากสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง Value-Added ก็คืออีกทางที่น่าจะช่วยได้
วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือ Betagro เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนที่ปั้นแบรนด์ S-Pure ขึ้นมา เพราะต้องการให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง และหลีกหนีการแข่งขันเรื่องราคาด้วยการผลิต และการวาง Position ของสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคระดับพรีเมียม
“Betagro ทำแบรนด์ S-Pure มาเป็น 10 ปี และมีการวางแผนระยะยาว ผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งสายงานผลิต และการตลาดที่สื่อแบรนด์นี้ออกไปให้ผู้บริโภครับรู้ ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็เข้าใจคุณภาพของสินค้าของบริษัทแล้ว และติดเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ถูกพูดถึงในเรื่องคุณภาพ และความสะอาด”
คุมตั้งแต่สายพันธุ์ยันเชลฟ์วาง
สำหรับสินค้า S-Pure ประกอบด้วยเนื้อไก่, เนื้อหมู และไข่ไก่ โดยสินค้าเกรด S-Pure นั้นมี 5 กระบวนการผลิต
- เลือกใช้สัตว์สายพันธุ์ชั้นดี
- เลี้ยงในโรงเรือนปิด
- อาหารสัตว์มีโปรตีนจากธัญพืช ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ
- ดูแลใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์
- ควบคุมความเย็น 0-4 องศาตั้งแต่ผลิต ถึงวางขาย
และจากกระบวนการดังกล่าว ล่าสุดผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ S-Pure ได้รับการการันตีมาตรฐาน NSF เป็นรายแรกของโลก ถือเป็นการขยายโอกาสเพิ่มขึ้นในการจำหน่ายสินค้ากับกลุ่มผู้บริโภคระดับพรีเมี่ยมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยจุดจำหน่ายของ S-Pure จะกระจายอยู่ใน Supermarket ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำเป็นหลัก
ลงทุนต่อเนื่อง-เติบโต 10-15%
ทั้งนี้ Betagro มีการลงทุนวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายโรงงาน กับปรับองค์กรสู่ดิจิทัล 4,000-5,000 ล้านบาท โดยยอดขายของแบรนด์ S-Pure ปีนี้จะเพิ่มขึ้น 10-15% จาก 1,400 ล้านบาทในปี 2559 แต่ยังคิดเป็นส่วนน้อยของทางกลุ่มที่ตั้งเป้าไว้ 95,000-100,000 ล้านบาท
ส่วนการแข่งขันในแง่แบรนด์ S-Pure ปัจจุบันยังมีการแข่งขันค่อนข้างน้อย เพราะผู้เล่นในตลาดต่างเน้นที่การจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ Value-Added ดังนั้นจึงเหลือปัจจัยเรื่องการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศเท่านั้น เพราะอาจมีตัวแปรเรื่องภัยธรรมชาติ หรืออื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามามีผลเรื่องราคา
สรุป
การสร้าง Value-Added สามารถทำได้ทุกสินค้า และการแข่งกันในรูปแบบนี้ก็น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาพรวมตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มากกว่าราคา ซึ่งจุดนี้ก็สามารถติดอาวุธการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นมากกว่าแค่ผู้ผลิตส่งออกไก่แช่แข็ง เป็นส่งออกไก่สดเช่นกัน
ส่วนการส่งออกของกลุ่ม Betagro นั้น วางเป้าหมายการส่งออกเนื้อไก่ทั้งหมด 77,000 ตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา โดยถ้าเป็นเนื้อไก่สดแบรนด์ S-Pure มีการจำหน่ายในสิงคโปร์ และฮ่องกง รวมถึงเตรียมขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา