ราคาเนื้อหมูยังทะยานไม่หยุด ทำร้านอาหารที่เน้นเมนูเนื้อหมูต้องปรับกระบวนท่า ล่าสุด หมูทอดเจ๊จง ขอขึ้นราคา หมูทอด เป็นขึดละ 30 บาท และ 300 บาท/กก. ส่วน คอหมูพระราม 5 เบนเข็มขายเมนูไก่ครั้งแรกตั้งแต่เปิดร้าน
หมูทอดเจ๊จง ขออภัยที่ต้องขึ้นราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าของวันที่ 3 ม.ค. 2565 เฟสบุ๊กเพจ ร้านหมูทอดเจ๊จง ได้โพสต์ขอโทษที่ต้องปรับขึ้นราคาเมนูต่าง ๆ ในร้าน เนื่องจากราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาใหม่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
เจาะไปที่แต่ละเมนูจะพบว่า หมูทอด ปรับขึ้นเป็นขีดละ 30 บาท และ 300 บาท/กก. ตับผัดกระเทียมปรับขึ้นเป็นขีดละ 28 บาท และ 280 บาท/กก. ส่วนเมนูใส่ถุงราดข้าว 1 อย่างปรับเพิ่มเป็น 26 บาท 2 อย่างปรับเพิ่มเป็น 36 บาท และกับข้าวเริ่มต้นที่ถุงละ 30 บาท
เมื่อปี 2559 ตามข้อมูลของเฟสบุ๊กเพจ ร้านหมูทอดเจ๊จง พบว่า ทางร้านเคยจำหน่าย หมูทอด ในราคาขีดละ 25 บาท และ 250 บาท/กก. ก่อนปี 2563 จะขยับราคา หมูทอด ขึ้นมาเป็นราคาขีดละ 26 บาท และ 260 บาท/กก. แต่ด้วยวิกฤตราคาเนื้อหมูราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทางร้านอาจประคองให้จำหน่ายราคาเดิมไว้ไม่ไหว
คอหมูพระราม 5 หันจำหน่าย เมนูไก่ ครั้งแรก
ด้าน คอหมูพระราม 5 ร้านที่พึ่งเปิดให้บริการมาราว 3 ปี และเป็นที่นิยมในย่านพระราม 5 ได้ประกาศผ่านเฟสบุ๊กเพจ คอหมูพระราม5 สรุปความได้ว่า ทางร้านจะจำหน่ายเมนูไก่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน เนื่องจากราคาเนื้อหมูยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับยังไม่มั่นใจว่า แหล่งที่มาของเนื้อหมูมาจากที่ใด เพราะฟาร์มต่าง ๆ ไม่มีหมู จนเริ่มมีซัพพลายเออร์บางรายเอาเนื้อหมูค้างสต็อกในห้องฟรีสมาระบาย ทำให้ทางร้านจะลดการสั่งหมูจนอาจถึงขั้นงดสั่งซื้อจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ เบื้องต้นจะจำหน่ายเมนูไก่ในราคา 55 บาท
ขณะเดียวกัน คอหมูพระราม 5 ยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์เนื้อหมูแพงอาจกินระยะเวลาอีก 2-3 เดือน จนทางร้านมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 30-35% ทำให้ทางร้านขอปรับราคาเมนู คอหมู ขึ้น เช่น คอหมูราดข้าว เพิ่ม 10 บาท และ คอหมูแบบกับข้าว เพิ่ม 30 บาท โดยการปรับราคานี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเมนูคอหมูเท่านั้น และเป็นการปรับขึ้นชั่วคราว
หน่วยงานรัฐยังไม่มีทางออกสำหรับวิกฤตนี้
รายงานข่าวจาก ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในวันที่ 4 ม.ค. 2565 นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงสถานการณ์ราคาหมูแพง และได้สั่งการ กระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งดูแล แก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมูถึงการจัดจำหน่าย ส่วนรายละเอียดในการดูแล และมาตรการการสนับสนุนยังไม่มีการเปิดเผย
ทั้งนี้วิกฤตเนื้อหมูราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นประกอบด้วยปัจจัยดังนี้
- การป่วยเป็นโรคระบาดในหมู ทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก และไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด ดังนั้นเมื่อสินค้าขาดแคลน แต่ความต้องการมากขึ้น ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564
- ต้นทุนค่าขนส่งที่มีราคาสูงขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การขนส่งมีตัวแปรเพิ่มในการวิเคราะห์วิธีการจัดส่ง
สำหรับราคา เนื้อหมู ประเภท สุกรชำแหละ เนื้อสัน สันนอก ค้าปลีก อ้างอิงข้อมูล กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ราคาเฉลี่ยวันที่ 4 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 181 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ที่มีราคาเฉลี่ย 166 บาท/กก. และมากกว่าวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่มีราคาเฉลี่ย 139 บาท/กก.
สรุป
ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงยังไม่มีใครมารับผิดชอบ ทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบหลักต้องลำบากไปตาม ๆ กัน ซึ่งการเปลี่ยนไปขายเมนูเนื้อไก่คงไม่ใช่คำตอบระยะยาวแน่ ๆ ส่วนตัวหวังว่าคงไม่มีการแนะนำให้ร้านอาหารเลี้ยงหมูด้วยตัวเองเพื่อทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจากปากของผู้รับผิดชอบเรื่องนี้
อ้างอิง // กระทรวงพาณิชย์, หมูทอดเจ๊จง, คอหมูพระราม 5
อ่านข่าวเกี่ยวกับราคาหมูแพง และวิกฤตร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่
- ขึ้นทุกร้าน! ชาบูบุฟเฟ่ต์ร้านดังขึ้นราคากว่า 10% ต้นทุนเนื้อหมู-น้ำมันพุ่ง แถมต้องกัน COVID-19
- โควิด-19 ระบาดรอบนี้ ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.5 แสนล้านบาท
- ร้านอาหารริมทางสิงคโปร์กำลังเจอ 3 ปัญหาใหญ่: นักลงทุน นักท่องเที่ยว ทายาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา