ปิดฉากไปอีกรายกับสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่ระดมเงินทุนได้จำนวนมาก มีมูลค่ากิจการมหาศาล แต่สุดท้ายธุรกิจไปไม่รอดและต้องปิดตัว ขายทรัพย์สินด้วยมูลค่าต่ำเรี่ยดิน
Yik Yak เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน ที่ทำแอพแชทโดยอิงกับพิกัดของผู้ใช้งาน แนวคิดของ Yik Yak คือค้นพบเพื่อนใหม่ๆ ในละแวกเดียวกัน (local community) เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เตะฟุตบอล ชิมอาหาร ฯลฯ แนวคิดของ Yik Yak จึงต่างไปจากแอพแชททั่วไปที่ใช้คุยกับคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว เปลี่ยนมาเป็นการคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแทน ผ่านแผนที่ของ Yik Yak ที่บอกว่ามีใครอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเราบ้าง
Yik Yak ก่อตั้งในปี 2013 และประสบความสำเร็จไม่น้อยกับตลาดนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความกระหายทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่น ส่งผลให้บริษัท Yik Yak หันมาเน้นทำตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เช่น ส่งมาสค็อตของบริษัทไปทำกิจกรรมตามสถาบันการศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกา
ความสนุกของ Yik Yak คือการแชทแบบไม่ต้องระบุตัวตน ส่งผลให้เราสามารถใช้ Yik Yak เป็นเครื่องมือ “นินทา” หรือปล่อยข่าวกอสสิปในรั้วมหาวิทยาลัยได้ ความนิยมของ Yik Yak เคยพุ่งสูงถึงขนาดพาแอพติด Top 10 ของแอพยอดนิยมบน iOS/Android อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
ในช่วงรุ่งเรือง Yik Yak ระดมทุนรวมกันได้ถึง 73.5 ล้านดอลลาร์ (2.5 พันล้านบาท) และมูลค่าของบริษัทเคยพุ่งสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ (1.4 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มลูกค้านักศึกษาเลิกตื่นเต้นกับ Yik Yak ช่วงเวลาแห่งความจริงก็เดินทางมาถึง ช่วงกลางปี 2016 บริษัทก็เริ่มมีปัญหา และพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจ (pivot) ไปยังการแชทลับเฉพาะกลุ่ม แต่ความพยายามก็ไม่เกิดผล ในเดือนธันวาคม 2016 บริษัทก็ต้องปลดพนักงานส่วนใหญ่ออก จากที่เดิมมีพนักงานประมาณ 50 คนก็ลดลงเหลือ 20 คน
ล่าสุดในเดือนเมษายน 2017 บริษํทก็ประกาศปิดตัว โดยทีมงานบางส่วนของ Yik Yak ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน จะย้ายไปเป็นพนักงานของ Square บริษัททำระบบจ่ายเงินมือถือ ในราคาเพียง 1 ล้านดอลลาร์
Yik Yak ถือเป็นสตาร์ตอัพรายหนึ่งที่มากับกระแสการแชทแบบไม่เปิดเผยตัวตน (anonymous chat) ที่มีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น Secret, Whisper, After School, Blindspot, Brighten แต่ก็ไม่มีรายไหนเลยที่สามารถไปต่อได้
David Byttow ผู้ก่อตั้งแอพ Secret ที่ต้องปิดตัวในลักษณะเดียวกันมาก่อน วิเคราะห์ความล้มเหลวของแอพแบบ anonymous ว่าการไม่เปิดเผยตัวตน ส่งผลให้การใช้งานสนุกในช่วงแรก แต่ในระยะยาวกลับไม่มีอะไรดึงดูดให้กลับมาใช้แอพต่อ เพราะผู้ใช้งานไม่สามารถสร้างความเป็นชุมชน (community) ระหว่างกันได้นั่นเอง ภาวะแบบนี้กลับแตกต่างจาก Snapchat ที่เป็นแอพบังคับให้เปิดเผยตัวตน แต่แชร์เนื้อหาที่ลบทิ้งไปโดยอัตโนมัติแทน การที่ผู้ใช้ Snapchat รู้จักกันและกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ Snapchat ประสบความสำเร็จในแง่การสร้างฐานผู้ใช้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ที่มา – Yik Yak Blog, The Verge
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา