ข่าวที่ร้อนแรงที่สุดในวงการโทรคมนาคมของไทยเวลานี้ คือเรื่องการเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง True และ dtac ซึ่ง หากสรุปแบบสั้นๆ และง่ายๆ คือ ทั้งสองบริษัทมีการทำ MOU ระหว่างกันเรื่องศึกษาการควบรวมธุรกิจ โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
นอกจากนี้ มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) ในชื่อ Citrine Global เพื่อขอซื้อหุ้นเดิมของ dtac และ True ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าจะเสร็จสิ้น แต่สิ่งที่สามารถวิเคราะห์กันต่อได้ทันทีคือ จากดีลครั้งนี้ “ใครได้ใครเสีย”
อ่านประกอบ – ทรู ควบรวม ดีแทค เกิด ข้อดี-ข้อเสีย กับผู้บริโภคอย่างไร?
อ่านประกอบ – True, dtac ยืนยันพิจารณาควบรวมกิจการ ตั้งบริษัทร่วมทุนซื้อหุ้นเดิมจากตลาด รอกระบวนการพิจารณา
ไม่มีผลดีต่อลูกค้าและพนักงาน “ดีแทค”
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ธุรกิจโทรคมนาคม ต้นทุนที่สูงที่สุดอยู่ที่โครงข่าย ต้องใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านต่อปี ดังนั้นการควบรวม True-dtac เป็นเรื่อง Financial ดีสำหรับผู้ให้บริการประหยัดเงินลงทุน ในแง่ผู้ถือหุ้นก็ได้ผลดี เพราะมีคำเสนอซื้อที่ราคาสูงกว่าตลาดประมาณ 15-17%
แต่คนที่มีแนวโน้มเสียประโยชน์สูงคือ “ผู้บริโภค” โดยที่น่าจะกระทบมากที่สุดคือ ลูกค้าดีแทค ซึ่งตอนนี้กำลังสับสนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ขณะที่ลูกค้า True และ AIS เหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้นการจะย้ายค่ายจากดีแทค ก็มีทางเลือกเดียวคือ AIS แปลว่าจำนวนผู้ให้บริการลดลง
“ระหว่างกระบวนการควบรวม ผู้บริโภคมีโอกาสเสียประโยชน์สูงสุด เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ dtac จะชะลอการลงทุน ชะลอการออกบริการใหม่ ชะลอเรื่องโปรโมชั่นด้านการแข่งขัน เพื่อดูความชัดเจนจากดีลนี้”
อีกส่วนที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ “พนักงาน” ของดีแทค ซึ่งหากมีการรวมบริษัทจริง มีพนักงานที่ทับซ้อนกัน ทิศทางจะเป็นอย่างไร การลดพนักงานลง ก็ไม่ช่วยประหยัดต้นทุน เพราะอย่างที่กล่าวว่า ต้นทุนสูงสุดของโทรคมนาคม คือ การลงทุนโครงข่าย และเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดผู้ให้บริการรายเล็กในไทย เพราะต้องลงทุนมหาศาล
ธุรกิจโทรคมนาคม คือ สาธารณูปโภคที่ควบรวมยาก
สำหรับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไปแล้ว มีโครงข่ายทับซ้อนกันกว่า 90% ดังนั้นการควบรวม True-dtac จึงไม่น่าจะช่วยให้โครงข่ายครอบคลุมมากขึ้น คุณภาพจึงไม่น่าจะแตกต่างจากเดิม
ในทางกลับกันการควบรวมอาจใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะเสร็จเรียบร้อย เพราะทั้งสองมีลักษณะที่แตกต่างกันหมดสมควร
- True เป็นบริษัทคนไทย มีลักษณะการทำงานแบบเถ้าแก่ ส่วน dtac อยู่ภายใต้การทำงานของ Telenor รัฐวิสาหกิจจากนอร์เวย์ เน้นการเปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ มีบอร์ดบริหารชัดเจน
- การนับจำนวนลูกค้า dtac ชัดเจนเปิดเผยตามแบบ Telenor ส่วน True มีการนับรวมลูกค้า Convergence จากหลายบริการในเครือ
ตัวอย่างที่เห็นในอดีต เช่น การทำงานร่วมกันระหว่าง True กับ Orange ในอดีตก็มีอุปสรรคจากความแตกต่างของคนไทยกับยุโรปไม่น้อย สุดท้าย Orange ถอนตัวออกไปและกลายเป็น Truemove ในปัจจุบัน
แต่หากแปลจำนวนหุ้นในบริษัทใหม่ที่กำลังจะก่อตั้ง True 58% และ dtac 42% และการระบุเป็น Equal Partnership หรือพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน ต้องรอดูว่าการออกเสียงในบริษัทจะเป็นอย่างไร
AIS อาจได้ประโยชน์มากที่สุด
แหล่งข่าว กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่อาจได้ประโยชน์มากที่สุดโดยไม่คาดคิดคือ AIS อย่างที่กล่าวว่า dtac อาจชะลอกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด True ก็ยังไม่ได้ประโยชน์จริงจังมากนัก แต่ AIS สามารถเดินเกมดึงลูกค้าได้เต็มที่ เหมือนในอดีตที่ True กับ Huth รวมกัน ก็มีลูกค้าย้ายค่ายกันไม่น้อย
นอกจากนี้ ด้วยความที่โทรคมนาคมเป็นสาธารณูปโภคไปแล้ว สิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดคือ เครือข่ายที่ดีมีคุณภาพ มีความเสถียรไม่ล่ม และระบบบิลลิ่งที่ดี ซึ่ง AIS ไม่มีปัญหาในจุดนี้อยู่แล้ว แต่การรวม True-dtac ต้องดูว่าระบบบิลลิ่งเข้ากันได้หรือไม่
สุดท้าย AIS จากเบอร์ 1 ของตลาด ก็จะกลายเป็นเบอร์ 2 ก็ลดการถูกจับจ้องโดยสังคม และจากหน่วยงานกำกับดูแลลงไปได้ จะจัดกิจกรรมทำโปรโมชั่นก็คล่องตัวมากขึ้น
อ่านเกม กสทช.-กขค. มีอำนาจหรือไม่?
แหล่งข่าว คาดว่า ดีลครั้งนี้สำเร็จแน่นอน (แต่จะใช้เวลานานเพราะมีรายละเอียดเยอะมาก) แต่ในทางกฎหมายไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมา CP ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กรณีโลตัส-แม็คโคร ก็สามารถจบลงได้ กรณีนี้เป็นเรื่องโทรคมนาคม มี กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลัก แต่คงไม่มีบทบาทอะไร เช่นเดียวกับ กขค. ที่คงผ่านได้เช่นกัน
แต่ผลลัพธ์ปลายทางคือ จำนวนผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 3 เหลือ 2 ส่งผลให้การแข่งขันลดลง ทางเลือกและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้ก็ย่อมลดลงด้วยเช่นกัน คือโจทย์ที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ความสำคัญ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา