คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่เแนวโน้มยังฟื้นตัวเปราะบางไม่แน่นอน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานโลกเป็นหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังมีความต่อนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
เศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน การใช้จ่ายในประเทศทยอยปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น การส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จำนวนนักท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวช้าๆ ตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลงในช่วงต้นปีหน้า
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านสูงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนนานกว่าที่ประเมินไว้และข้อจำกัดด้านอุปทานในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ
รายได้และกำลังซื้อทยอยฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและไม่แน่นอน ต้องติดตามพัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศและความต่อเนื่องของแรงสบับสนุนจากภาครัฐ
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของเสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ซึ่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลัก
ที่มา – BOT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา