Peloton บริษัทที่หมายมั่นจะทำลายฟิตเนส กลายเป็นถูกฟิตเนส และ COVID-19 ทำลายเสียเอง

peloton

ในปี 2020 Peloton บริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเครื่องออกกำลังกายเติบโตก้าวกระโดด เพราะยิมทุกแห่งปิด ทำให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายที่บ้านมากขึ้น จนไตรมาส 1 ปี 2020 ยอดขายบริษัทพุ่งกว่า 250%

แต่ปัจจุบัน โรค COVID-19 เริ่มทุเลา หลายประเทศมีการกระจายวัคซีน และสถานที่ต่าง ๆ กลับมาให้บริการอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ ฟิตเนส และโรงยิมออกกำลังกาย กระทบกับธุรกิจของ Peloton เต็ม ๆ

ขนาดว่าไตรมาส 1 ของปี 2021 ถึงยอดขายจะเพิ่มขึ้น 6% เป็น 805 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,000 ล้านบาท) แต่ Peloton ขาดทุนสุทธิถึง 376 ล้านดอลลาร์ (ราว 12,000 ล้านบาท) จากปีก่อนกำไรสุทธิ 69 ล้านดอลลาร์

แล้ว Peloton จะเอาตัวรอดจากวิกฤตนี้อย่างไร?

Peloton กับการปฏิวัติวงการออกกำลังกาย

เริ่มต้นมาทำความรู้จักกับบริษัทนี้กันก่อน Peloton คือบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเครื่องออกกำลังกาย ก่อตั้งปี 2012 มีเครื่องปั่นจักรยานเป็นสินค้าตัวแรก แต่ไม่ใช่เครื่องปั่นจักรยานธรรมดา เพราะเครื่องนี้มาพร้อมจอภาพขนาดใหญ่บริเวณแฮนด์จักรยาน และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อออกกำลังกายไปพร้อมกับผู้อื่นผ่านหน้าจอดังกล่าวได้

การก่อตั้งของ Peloton เขย่าตลาดออกกำลังกายพอสมควร เพราะเวลานั้นมีเพียงอุปกรณ์สวมใส่จับการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย เช่น นาฬิกาแบบต่าง ๆ ยังไม่มีเครื่องออกกำลังกายที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้นัก ประกอบกับปี 2018 บริษัทเปิดตัวลู่วิ่งไฟฟ้าเพิ่ม ตอบโจทย์การออกกำลังกายได้มากกว่าเดิม

แต่เมื่อมีนวัตกรรมต่าง ๆ รวมอยู่ในอุปกรณ์เดียว ทำให้ราคาขายของเครื่องปั่นจักรยาน และลู่วิ่งไฟฟ้าของ Peloton แพงกว่า 2,000 ดอลลาร์ (ราว 65,000 บาท) จึงตอบโจทย์ลูกค้าแค่กลุ่มระดับบนเท่านั้น มากกว่านั้นคือ ผู้ใช้ต้องสมัครสมาชิกแยกต่างหากเพื่อเข้าร่วมคลาสเรียนออกกำลังกายอื่น ๆ ด้วย

แต่ถึงจะราคาสูง และต้องสมัครสมาชิกเพิ่มเติม แต่ Peloton สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง จน IPO ได้ในปี 2019 โดยเวลานั้นมีสมาชิกสมัครใช้บริการกว่า 5 แสนคน รายได้ 915 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 110% แม้จะยังขาดทุน 435 ล้านดอลลาร์ ราว (14,200 ล้านบาท)

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อมี COVID-19

ปี 2020 เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ไปทั่วโลก สร้างปัญหาให้กับหลากหลายธุรกิจ แต่ไม่ใช่กับ Peloton เติบโตสวนตลาดได้ เพราะแทบจะทั้งปี 2020 สถานออกกำลังกาย และฟิตเนสต่าง ๆ ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคระบาด แต่ทุกคนกลับใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายอยู่ที่บ้านคือทางออกที่ดีที่สุด

Peloton สามารถปิดรายได้ในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2021 (สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2021) เติบโต 250% เพราะนอกจากเครื่องออกกำลังกายที่มีอยู่เดิม บริษัทยังเปิดตัวเครื่องออกกำลังกายรุ่นเริ่มต้นที่ราคาประหยัดกว่า และมีการทำตลาดบริการสมาชิกออกกำลังให้ตอบโจทย์กับทุกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ดังนั้นจะบอกว่า COVID-19 ทำให้ Peloton เติบดตอย่างก้าวกระโดดก็คงไม่ถูกทั้งหมด เพราะบริษัทมีการปรับตัวให้ลดภาพลักษณ์เครื่องออกกำลังกายสำหรับเศรษฐี พร้อมเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ด้วยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เช่นโรงแรม รวมถึงซื้อกิจการแบรนด์เครื่องออกกำลังกายชั้นนำเพื่อขยายฐานการผลิตรองรับการเติบโตด้วย

แต่ถึง 2020 จะดีแค่ไหน พอเข้าปี 2021 ที่หลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนกันอย่างจริงจัง จนหลายธุรกิจกลับมาให้บริการอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือฟิตเนส และสถานออกกำลังกาย ทำให้ Peloton ประสบปัญหาอย่างหนัก ไล่ตั้งแต่จำนวนผู้ใช้ลดลง รวมถึงมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับตัวองค์กรเช่นกัน

2021 กับวิกฤตที่ Peloton ต้องฝ่าไปให้ได้

เริ่มที่เรื่องร้ายกันก่อน Peloton เปิดปีมาด้วยลู่วิ่งไฟฟ้า และเครื่องปั่นจักรยานสร้างความบาดเจ็บให้กับผู้ใช้ และคนใกล้ตัว จน CEO ต้องออกมาประกาศขอโทษ แต่ค่อนข้างช้าหากนับตั้งแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น สร้างความเสื่อมเสียให้กับแบรนด์อย่างมาก

ต่อด้วยการกระจายฉีดวัคซีนในสหรัฐอเมริกา ประเทศหลักที่ Peloton ทำตลาด จนผู้ใช้หลายคนเริ่มกลับไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส และสถานออกกำลังกายมากขึ้น ไม่ยอมต่อสมาชิกกับ Peloton จนสูญเสียสมาชิก แม้จะมีผู้สมัครกว่า 6.2 ล้านรายก็ตาม ซึ่งหากเจาะเข้าไป สมาชิกเหล่านี้ออกกำลังกายกับ Peloton เฉลี่ยลดลงด้วย

นอกจากนี้การทำราคาเครื่องออกกำลังกายให้เข้าถึงง่ายขึ้นกลับไม่ประสบผลสำเร็จนัก เพราะในตลาดหลายคนยังมองว่าค่อนข้างสูง ประกอบกับการเลือกไปสมัครสมาชิกฟิตเนสต่าง ๆ เพื่อใช้เครื่องออกกำลังกายแบบดั้งเดิมอาจคุ้มค่ากว่าในยุคนี้

ปัจจัยทั้งหมดทำให้ไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2022 (สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2022) Peloton มียอดขายจะเพิ่มขึ้น 6% เป็น 805 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,000 ล้านบาท) แต่ Peloton ขาดทุนสุทธิถึง 376 ล้านดอลลาร์ (ราว 12,000 ล้านบาท) จากปีก่อนกำไรสุทธิ 69 ล้านดอลลาร์

John Foley ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Peloton ถึงกับออกจดหมายถึงนักลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเน้นที่การเปิดเมืองทำให้หลายสิ่งที่บริษัทคาดการณ์ไว้ไม่เป็นเช่นนั้น กระทบกับยอดขายบริษัท และการเติบโตในปีงบประมาณ 2022 จนต้องปรับลดการคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณนี้ลงจากเดิม

สรุป

เรียกว่าเป็นงานหนักของ Peloton เลยทีเดียว เพราะแทบจะเป็นไม่กี่องค์กรออกกำลังกายที่เอาชนะในศึก COVID-19 ได้ แต่เมื่อวิกฤตนี้เริ่มจางหาย หลายคนอยากกลับมาออกกำลังกายนอกบ้าน กลายเป็นว่า Peloton ต้องเผชิญศึกหนักเพื่อจูงใจให้ทุกคนกลับมาใช้งาน และมันคงไม่ยากในเวลานี้แน่นอน

อ้างอิง // CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา