- การประชุม COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร คาดว่ากลุ่มสมาชิกจะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนและเข้มข้นขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่พร้อมประกาศจุดยืนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกำหนดเป้าหมายข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
แต่การดำเนินการในระยะข้างหน้าอาจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น นโยบายทางการค้าของประเทศชั้นนำ และต้นทุนในการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น - เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องปรับตัวทันที เนื่องจากการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะมาเร็วและเข้มข้นกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก (SMEs) ที่อาจขาดศักยภาพและมีทรัพยากรไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน
การประชุม 26th UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร คาดว่ากลุ่มสมาชิกชั้นนำ เช่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนและเข้มข้นขึ้น เพื่อชะลอวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก รวมถึงประเทศไทยที่แม้จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกไม่มากนัก แต่ไทยยังคงดำเนินตามแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ในปี 2573 โดยเฉพาะในภาคพลังงาน คมนาคมและขนส่ง โดยมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือน
กระจกต่ำและมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2608 เพื่อประกาศจุดยืนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในระยะข้างหน้าอาจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงนโยบายทางการค้าของประเทศชั้นนำ เช่น
- ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเร่งให้ทุกประเทศทั่วโลกอาจต้องพิจารณาปรับเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการบังคับใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจมาถึงเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
- โจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้มีการสั่งซื้ออาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์เฉพาะจากระบบ Delivery จะมีปริมาณมากกว่า 250 ล้านชิ้น ในปี 2564 และปริมาณขยะติดเชื้อจากการป้องกันและรักษาโควิด-19 ที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ที่ซับซ้อนจะเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวในเชิงรุกและเข้มข้นขึ้น โดยยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานและความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
- นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสำคัญจะเข้มงวดและขยายการบังคับใช้ในวงกว้างมากขึ้น เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment ของสหภาพยุโรปที่จะใช้กับสินค้านำเข้าในปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการรั่วไหลของคาร์บอนและกระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับภาคการผลิตของประเทศผู้ส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าในระยะแรกอาจใช้กับภาคธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงอย่างภาคพลังงาน เหมืองแร่ แต่คาดว่าจะขยายไปสู่สินค้าและประเทศอื่นต่อไปในอนาคต
ต้นทุนสูงขึ้นจาก ราคาพลังงาน แรงงาน และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจมีต้นทุนเฉพาะหน้าสูงขึ้น ทั้งจากราคาพลังงาน ต้นทุนแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิด-19 ประกอบกับยอดขายที่ยังไม่ฟื้นตัว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Bio-Circular-Green Economy ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มเติมในการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะมาทดแทนสินค้ากลุ่มดั้งเดิมยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หรือเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูง เพราะยังไม่มีตลาดรองรับเพียงพอที่จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) แต่คาดว่าต้นทุนน่าจะปรับตัวลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าธุรกิจจะเผชิญความท้าทายหลายประการเพื่อตอบรับ
เทรนด์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นโจทย์ที่ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องปรับตัวทันที เนื่องจากการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะมาเร็วและเข้มข้นกว่าที่คาดไว้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก (SMEs) ที่อาจขาดศักยภาพและมีทรัพยากรไม่เพียงพอ
ดังนั้นจึงควรมีกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งมาตรการทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อ เงินกองทุนสนับสนุนผู้ส่งออก การร่วมลงทุนในงานวิจัยพัฒนาที่มีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ทักษะแรงงาน และ Know-how ต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้เองในระยะยาว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา