Digital Lending แข่งเดือด บัตร Rabbit จับมือ Kerry Express, Aeon และ Humanica เปิดตัว Rabbit Cash บริการสินเชื่อดิจิทัล ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 2,000-3,000 ล้านบาท ปี 2022 และ 5,000 ล้านบาท ปี 2023
Rabbit Cash ตอบโจทย์ตลาด Digital Lending
รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เล่าให้ฟังว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา รวมถึงการกู้ยืมสินเชื่อนอกระบบในประเทศไทยยังมีจำนวนมาก ทำให้โอกาสในการทำตลาด Digital Lending ยังมีช่องว่างอยู่ แม้จปัจจุบันจะมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก
ทำให้บริษัทเปิดตัว Rabbit Cash บริการสินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending ที่เกิดขึ้นโดย 4 ธุรกิจร่วมมือกันคือ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กับ บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) และ บมจ. ฮิวแมนิก้า
“Rabbit Cash ให้บริการกับกลุ่มลูกค้าสมาชิก Kerry Express กว่า 1 ล้านรายก่อน คิดดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ให้สินเชื่อสูงสุด 1 แสนบาท โดยในปี 2022 จะเปิดบริการกับลูกค้าทั่วไป ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 2,000-3,000 ล้านบาท ในปีดังกล่าว และปี 2023 จะปล่อยสินเชื่อกว่า 5,000 ล้านบาท”
ประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคจากบริการหลากหลาย
สำหรับการประเมินการปล่อยสินเชื่อของ Rabbit Cash จะอาศัยความได้เปรียบของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่มีบริการหลากหลาย เช่นการเดินทางรถไฟฟ้า แะลการชำเงินซื้อสินค้า รวมถึง บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพลส ที่มีผู้ใช้งานส่งสินค้า และพนักงานจำนวนมาก และ บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) ที่แข็งแกร่งเรื่องบริการทางการเงิน
เพื่อออกแบบบริการทางการเงินแบบดิจิทัล และนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อปล่อยสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด ครอบคลุมบริการตั้งแต่ สินเชื่อนาโน, สินเชื่อสวัสดิการ, สินเชื่อ Pay Day Loan, และสินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now, Pay Later โดยทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้รับรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้บริการต่าง ๆ จะทยอยเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2022 โดยหากนับถึงปัจจุบัน บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 6 เดือน และพัฒนาระบบหลังบ้านอย่างจริงจังในช่วง 3 เดือนล่าสุด
พาร์ตเนอร์เยอะยิ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจ
นอกจากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า Kerry Express ในปี 2022 Rabbit Cash จะปล่อยสินเชื่อให้พนักงาน บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และยกระดับชีวิตให้กับพนักงานประจำ และไม่ประจำ ให้ดียิ่งขึ้น ผ่านอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
ขณะเดียวกันการร่วมมือกับ บมจ. ฮิวแมนิก้า ที่เชี่ยวชาญเรื่องทรัพยากรบุคคล Rabbit Cash จะนำบริการสินเชื่อดิจิทัลไปเชื่อมต่อกับระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพื่อให้พนักงานในบริษัทต่าง ๆ สามารถได้สินเชื่อที่เบิกจากเงินเดือนของตัวเองได้เช่นกัน ถือเป็นสวัสดิการใหม่ของบริษัททันที
ส่วน บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จะมาในรูปแบบการลงทุนมากกว่าการเชื่อมต่อธุรกิจเข้าด้วยกัน แต่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการให้แหล่งเงินทนุในต้นทุนที่ต่ำด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม AEON Financial Service ประเทศญี่ปุ่น
ตลาด Digital Lending ที่ไม่ง่าย
ภาพรวมตลาด Digital Lending ในปัจจุบันมีผู้เล่นในประเทศไทยหลากหลาย ไล่ตั้งแต่กลุ่มที่ร่วมมือกับธนาคาร เช่น LINE BK, เงินทันเด้อ และ Finnix รวมถึงกลุ่มที่พัฒนามาจากบริการทางการเงิน เช่น Kashjoy ของกลุ่ม Jaymart เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ค่อนข้างเปิดตัวช่วงเวลาเดียวกันคือปี 2019-2020 เพราะช่วงนั้นวิกฤตโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ทุกคน ประกอบกับปีถัดมามีการรระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การกู้เงินดอกเบี้ยต่ำค่อนข้างตอบโจทย์ในการประคองธุรกิจ และการใช้ชีวิต
จุดนี้เองเมื่อมีผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้ Rabbit Cash ไม่ง่ายที่จะบุกตลาด แม้จะมีฐานข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงจำนวนมาก แต่การที่มาทีหลัง ทำให้ต้องสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภค เพื่อจูงใจพวกเขามาสมัครสินเชื่อในระบบให้ได้ตามเป้าหมาย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา