บทใหม่ของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับการพา เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ โลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์

จาก EXACT สตูดิโอเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งปี 1991 บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ พาองค์กรเติบโตจนวันที่ 20 ต.ค. 2021 จะเปิดจอง IPO ในชื่อ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ONEE มาดูกันว่ากว่าจะถึงจุดนี้ บริษัทต้องผ่านอะไรมาบ้าง

onee

30 ปี กับความแข็งแกร่งในตลาดจอแก้ว

เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ ONEE เริ่มต้นในปี 1991 จากการเป็นผู้ผลิตรายการคุณภาพภายใต้ชื่อ EXACT และ Scenario ทั้งซิตคอม, ละคร และรายการวาไรตี้ต่าง ๆ แม้จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่ด้วยคุณภาพ และความสร้างสรรค์เนื้อหาที่โดนใจผู้รับชม ทำให้องค์กรเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ผ่านการบริหารของ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ คือการที่กลุ่มแกรมมี่ต้องการเข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาเข้ามารับผิดชอบการบริหารช่อง ONE 31 ที่ออกอากาศเมื่อปี 2014 กลายเป็นการสวมบทบาทใหม่จากเดิมที่แค่ดูแลเรื่องเนื้อหาความบันเทิง กลายเป็นการดูแลภาพรวมช่องโทรทัศน์

แม้ทีวีดิจิทัลจะถูก Digital Disruption ไปไม่น้อย แต่ ONE 31 กลับเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2021 ช่อง ONE 31 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งวันเป็นอันดับที่ 4 จากปีแรกที่ออกอากาศอยู่ต่ำกว่า 10 อันดับแรก ส่วนเรตติ้งในช่วง Prime Time ที่เม็ดเงินโฆษณาโทรทัศน์กระจุกอยู่มากที่สุด ทางช่องอยู่อันดับที่ 3

ปรับตัวสู้ศึกออนไลน์ จนกลายเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ

ขณะที่ช่อง ONE 31 กำลังเติบโตไปได้สวย แต่ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ เล็งเห็นว่า Digital Disruption เริ่มขึ้นตั้งแต่การประมูลช่องทีวีดิจิทัลเสร็จสิ้น ทำให้เกิดการปรับตัวในองค์กร พร้อมปรับโฉมไปสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ เพื่อประคองการเติบโตได้ทั้งฝั่งหน้าจอแก้ว และดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน

“การมาของดิจิทัล เรามองว่าตัวเองจะต่อยอดกับมันอย่างไร ไม่ใช่เอาชนะอย่างไร เช่นเราแทบจะเป็นผู้ผลิตเจ้าแรก ๆ ที่นำละครไปให้ดูย้อนหลังบนออนไลน์หลังฉายจบ 2-3 ชม. ซึ่งการคิดใหม่ของเรา ไม่มองดิจิทัลเป็นศัตรู ทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นกำลังหลักของแพลตฟอร์มต่าง ๆ” บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ เผย

ทั้ง YouTube และ Facebook ในเครือ ONEE เช่น ONE 31, ข่าวช่องวัน และอื่น ๆ รวมกันเป็นอันดับ 1 ในแง่ผู้ติดตาม และจำนวนการรับชมในหมวดหมู่ที่ไม่ใช่เพลง ถือเป็นการยกระดับตัวเองให้เข้าใกล้ดิจิทัล และเติบโตไปกับคลื่นลูกใหม่นี้ แถมยังเป็นพาร์ตเนอร์ที่ขาดไม่ได้ของ YouTube และ Facebook เช่นกัน

รุกตลาดต่างประเทศ พร้อมทำ OTT ของตัวเอง

ในทางกลับกัน ONEE จะเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการนำคอนเทนต์ไปเผยแพร่บน OTT ต่าง ๆ ที่ตอนนี้เป็นพันธมิตรอยู่ 8 แพลตฟอร์มทั้งของไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะใน LINE TV ที่มียอดชม และผู้ติดตามเป็นอันดับหนึ่งในแพลตฟอร์มดังกล่าวเช่นเดิมกับ Facebook และ YouTube

“เราไม่ใช่แค่ช่องทีวี แต่เราคือผู้ผลิตคอนเทนต์ และยังมีธุรกิจอื่น ๆ ครอบคลุมการทำตลาดทั้งหมด ยิ่ง Netflix จะลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญในคอนเทนต์เอเชีย และ Disney+ จะลงเพิ่มอีก 5-6 เท่า กลายเป็นโอกาสใหม่ของเราในการรุกตลาดต่างประเทศเต็มที่”

ก่อนหน้านี้ ONEE เคยทำคอนเทนต์ขึ้นที่ 1 ของ Netflix ในหลายประเทศ เช่นเรื่อง เด็กใหม่ และในประเทศจีนยังมีคอนเทนต์ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่มากกว่านั้น บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ยืนยันว่า ONEE มีแผนทำบริการ OTT ของตัวเอง ผ่านการต่อยอดจากแอปพลิเคชันที่ตัวเองมีอยู่

IPO พร้อมปรับสัดส่วนรายได้ใหม่

เรียกว่ามาไกลพอสมควรสำหรับ ONEE หรือ EXACT เดิม แต่ถึงมาไกลแค่ไหน ปรับตัวไปธุรกิจอื่น ๆ เท่าใด รายได้หลักของบริษัทยังมาจากช่องทางโทรทัศน์ถึง 48% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง รองลงมาเป็นช่องทางออนไลน์ 21% และช่องทางต่างประเทศ 5% ส่วนที่เหลือมาจากช่องทางอื่น ๆ เช่นการจัดงาน, วิทยุ และขายสินค้า

อย่างไรก็ตามจากการเปิด IPO ครั้งนี้ ONEE จะนำเงินลงทุนไปเสริมความแข็งแกร่งในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะการยกระดับธุรกิจออนไลน์ และต่างประเทศให้มีสัดส่วนมากขึ้น แต่ใช่ว่าฝั่งโทรทัศน์จะลดลง เพราะจะมีการลงทุนสร้างการเติบโตด้วยเนื้อหาที่แข็งแกร่งเช่นกัน

สำหรับรายได้รวมของ ONEE ปี 2021 อยู่ที่ 4,875 ล้านบาท เติบโต 3 ปี เฉลี่ย 7.7% มีกำไรขั้นต้น 2,211 ล้านบาท เติบโต 3 ปี เฉลี่ย 16.5% กำไรสุทธิ 658 ล้านบาท เติบโต 3 เฉลี่ย 201% โดย ONEE มีแผนลงทุนพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการ และเพิ่มงบประมาณผลิตรายการประมาณ 500 ล้านบาท ภายในปี 2567

สรุป

ONEE ต้องการเติบโตไปได้มากกว่านี้ และ IPO ช่วยเร่งระยะเวลาให้เร็วขึ้น ถือเป็นการเดินหมากที่น่าสนใจ แต่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค เพราะ COVID-19 ยังระบาดยอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร ทำให้ธุรกิจสื่อเกิดข้อจำกัดในการทำธุรกิจ และต้องดูว่า ONEE จะแก้เกมนี้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา