ข้อมูลจากงานสัมมนาออนไลน์ THE WISDOM The Symbol Of Your Vision: The Future of Digital Disruption and Investment จัดโดย เดอะวิสดอมกสิกรไทย เชิญ 4 วิทยากรด้านการเงินการลงทุน แลกเปลี่ยนมุมมองเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต ผู้คนทั้งโลก ทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องปรับและเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งเต็มสปีด โดยมีโควิด–19 และกระแส Digital Disruption เป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญ
Disruption และโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
โลกหลังจากนี้จะแตกต่างไปจากปัจจุบันแบบไม่เหลือเค้าเดิม ธุรกิจต้องตอบรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ภายใต้การเสวนาในหัวข้อ “Turning Digital Disruption into Opportunity” คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่มาพร้อมความท้าทายและโอกาสของธุรกิจเอาไว้อย่างน่าสนใจ
เราได้ยินคำว่า Disruption กันมาสักพัก และเรายังได้ยินกันอีกว่าโควิด-19 เร่งให้ธุรกิจต่างๆ ปรับตัวกันยกใหญ่ คุณเรืองโรจน์เล่าว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ E-Commerce จำนวนคนซื้อของออนไลน์ในไทยพุ่งขึ้นถึง 58% ไม่มีทีท่าลดลง ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราพบว่าการหันสู่ตลาดออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ E-Commerce ไม่ใช่แค่เรื่องราวเดียวของ Disruption ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากให้จับตา เช่น การเปลี่ยนแปลงจาก Lazy Economy สู่ At-Home Economy จากซื้อสินค้าแบบ On-Demand เพื่อความสะดวกสบายไปสู่การซื้อแบบ On-Demand เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเล่น เรียน พักผ่อน ทานอาหาร หรือทำงาน หลังจากนี้บ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเหล่านั้นมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ AI ที่อยู่ในชีวิตเรามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็บนโทรศัพท์ทั้ง Chat Bot จนถึงอัลกอริทึมของแอปต่างๆ โดยเทคโนโลยี AI มีตั้งแต่ระบบอัตโนมัติที่ทำตามคำสั่งซ้ำๆ ไปจนถึงการเข้าใจและตอบโต้ภาษามนุษย์ และล่าสุดคือ AI ที่สามารถเรียนรู้และคิดเองได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้เราได้เห็นอินฟลูเอนเซอร์ AI ที่สามารถรับและทำงานต่างๆ ได้เอง หรือจะเป็นระบบจัดการโกดังของ JD.com ที่สามารถจัดการพัสดุได้กว่า 500,000 ชิ้น/วัน โดยใช้คนเพียง 100 คน
ทั้งหมดนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีเท่านั้น คุณเรืองโรจน์เล่าว่า ถัดไปอีก 10 ปี โลกในปี 2030 จะเปลี่ยนแปลงไปแบบเหนือจินตนาการ ก่อเกิดความท้าทายและโอกาสมหาศาล ชนิดที่ว่าหากธุรกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทันตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษได้ทันก็มีโอกาสถูกทิ้งไว้ข้างหลังสูงมาก
โลกจะเปลี่ยนไปมหาศาลในอีก 10 ปี แล้วตรงไหนคือโอกาสของธุรกิจ?
ในปี 2018 Disruption เกิดขึ้นช้าๆ เป็นโดมิโน่ จากอุตสาหกรรมหนึ่งไปกระทบอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น การสื่อสารก้าวหน้าจนทำให้เดลิเวอรีเกิดขึ้น แต่หลังโควิดระบาด Disruption ก็เร่งตัว ทุกคนถูกบังคับให้ disrupt ตัวเองพร้อมกันในทีเดียว เช่น การศึกษาและการแพทย์ถูกเร่งให้เป็นดิจิทัลโดยไม่มีทางเลือก
นี่คือ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่คุณเรืองโรจน์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแสดงความคิดเห็นไว้
ธุรกิจอาหาร: โปรตีนจากพืชจะกลายเป็นกระแสหลักเพราะพัฒนารสชาติจนใกล้เคียงของจริง อาหารทางเลือกอื่น เช่น โปรตีนจากแมลง เครื่องดื่มสังเคราะห์จากเครื่องสแกนโมเลกุล (Molecular Spirit) จะได้รับความสนใจ เราจะได้เห็นฟาร์มและร้านอาหารที่ใช้ระบบอัตโนมัติและ AI มากขึ้น
ธุรกิจยานยนต์: รถไฟฟ้ามาเร็วกว่าที่คิด รถยนต์ไร้คนขับจะที่เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ธุรกิจการขับเคลื่อนจะกลายเป็นมากกว่าสินค้าแต่จะกลายเป็นบริการเพราะ Sharing Economy, 5G, และเมืองอัจฉริยะ จะทำให้บริการแชร์ริ่งและบริการขนส่งสาธารณะไร้คนขับเป็นไปได้ยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ผู้เล่นที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีแต่ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์อย่าง Grab, Monet และ Waymo จะมีพื้นที่ในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
ธุรกิจค้าปลีก: หน้าร้านต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ จากพื้นที่ขายสินค้ากลายเป็นโชว์รูมขนาดเล็ก เป็นคอมมูนิตี้ลูกค้า ที่สามารถสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์มากยิ่งขึ้น ลดโอกาสที่แพลตฟอร์มคนกลางจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งด้านมูลค่าไป
การศึกษา: Ed-tech ได้โอกาสจากการที่งาน 15%-30% ถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี 2030 ผู้คนต้อง Reskill เพื่อปรับตัว Nano-degree หรือการเรียนรู้ย่อมๆ ไม่ต้องรอ 4 ปีจบปริญญาจะยิ่งสำคัญเพราะช่วยคนสร้างทักษะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เร็วกว่า
การแพทย์: การพบแพทย์และการผ่าตัดทางไกลกลายเป็นเรื่องพื้นฐานขึ้น การผลิตชีวโมเลกุล เช่น DNA โปรตีน ไวรัส เพื่อรักษาโรคจะมีความเป็นไปได้ ที่สำคัญสังคมสูงวัยจะเปิดโอกาสให้กับสินค้าบริการแบบ Silver-friendly เพราะผู้สูงอายุยินดีจ่ายเงินแพงขึ้น 30% เพื่อสินค้าเหล่านี้
การเงินการธนาคาร: ธนาคารที่มีความเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่สเกลตัวเองขึ้นจะเป็นผู้เล่นหลักในระบบการเงินที่มีความเป็นดิจิทัล ที่สำคัญแพลตฟอร์มในระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) ซึ่งสามารถสร้างบริการทางการเงินแบบเดียวกับเราเห็นในปัจจุบัน เช่น การฝากเงิน การกู้ การทำประกัน และการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในเวอร์ชันที่เหนือกว่าได้จะกลายเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ต้องจับตา
วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม หัวใจของธุรกิจแห่งอนาคต
ภายใต้บริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด อาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองที่จะมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้น 20-40 ตัว ภายในเวลา 8 ปี เพราะมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก มีมูลค่า Internet Economy เติบโตรวดเร็ว จาก 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เป็น 1.24 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2025
พูดง่ายๆ คือ อาเซียนมีรูปแบบการเติบโตเหมือนประเทศจีนในเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
คำถามสำคัญก็คือ เมื่อโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงเปิดกว้างขนาดนี้ แล้วเราเปิดรับโอกาสนั้นมากแค่ไหน?
คุณเรืองโรจน์ให้แง่คิดว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถไขว่คว้าโอกาสได้คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมในองค์กร ซึ่งมาจากความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ลูกค้าและพนักงานที่มาจากหลายช่วงวัย การเปิดรับความรู้ใหม่ๆ (Open) จากผู้คนหลากหลาย การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน (Collaborative) และทดลองร่วมกัน (Experiment) เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้น
การเงินการลงทุน อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เจอ Disruption ครั้งใหญ่
อุตสาหกรรมการเงินการลงทุนถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เจอความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดทั้งบริการที่ถูก disrupt จนเกิดเป็นบริการการเงินออนไลน์จำนวนมาก และยังมีสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่โด่งดังขึ้นมาในยุคนี้อย่างคริปโทเคอเรนซี่หลายสกุลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi)
ในงานเสวนาครั้งนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการลงทุนแนวหน้าของเมืองไทยอีก 3 ท่าน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ Unlocking a New Era of Investment อัปเดตความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงิน และชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้กับลูกค้าผู้ทรงเกียรติของเดอะวิสดอมธนาคารกสิกรไทยอีกด้วย
คุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า ยุคโควิดคือยุคทองของการลงทุนออนไลน์ ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 กว่าปีจนถึงช่วงโควิดเริ่มระบาด (วันที่ 1 มกราคม 2020) มีนักลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 1.2 ล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันมีนักลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 2 ล้านคน เป็นที่เรียบร้อย ที่สำคัญคือนักลงทุนมีอายุเฉลี่ยลดลงกว่าเดิม
พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ดังนั้น การลงทุนหลังจากนี้จึงมีทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อไม่พลาดโอกาสแห่งอนาคต
คริปโทเคอเรนซี่: จุดเริ่มต้นของระบบการเงินแบบใหม่
คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา (ท็อป) ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน คริปโทเคอเรนซี่ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ณ ปัจจุบัน มีผู้เปิดบัญชีกับ Bitkub ที่ยัง active กว่า 1 ล้านบัญชี เรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายแพลตฟอร์มในแต่ละวันอยู่ที่ 8-12 พันล้านบาท
ในบริบทโลก ตอนนี้คริปโทเคอเรนซี่มี market cap อยู่ที่ 2.3-2.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยที่มีนักลงทุนชื่อดังและนักลงทุนสถาบันระดับโลกเข้าไปลงทุนเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น George Soros, Goldman Sachs, JP Morgan, Tesla, Square, Twitter และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม คริปโทเคอเรนซี่เป็นแค่สกุลเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นอย่างระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi ที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ไม่ต้องใช้ตัวกลาง เช่น รัฐ ธนาคาร โรงรับจำนำ ในการทำธุรกรรม แต่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเชื่อมต่อผู้ทำธุรกรรมทั้งสองฝ่ายเข้าหากันโดยตรง
DeFi: คลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ในโลกการเงิน
คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล (คิม) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital ผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand กล่าวว่าโควิดช่วยเร่งให้ DeFi เติบโตขึ้นเพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้คนหันไปทำธุรกรรมแบบ Cashless มากขึ้น อย่างในเดือนกันยายน 2020 มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi เพียง 5 แสนคนทั่วโลก แต่สามารถเติบโตขึ้น 20 เท่า เป็น 10 ล้านคน ในช่วงเวลา 1 ปี เท่านั้น
คุณคิม กานต์นิธิ อธิบายให้ฟังว่าที่จริงแล้ว DeFi ก็ไม่ต่างไปจากการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิม คือเราสามารถฝากเงินสร้างสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม DeFi เพื่อรับผลตอบแทนเหมือนฝากเงินธนาคาร และแพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะนำเงินไปให้บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไม่ต่างจากธนาคาร เช่น การปล่อยกู้แบบ P2P Lending หรือ รับแลกสกุลเงินดิจิทัลโดยไม่มีตัวกลางแต่ทำผ่าน smart contract ที่เป็นโค้ดคอมพิวเตอร์
เราจึงสามารถลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับตัวกลาง ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นและจ่ายค่าธรรมเนียมน้อยลง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินที่อาจมีบทบาทสำคัญในอนาคต
โอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ในโลกการเงินไร้ตัวกลาง
คุณท็อป จิรายุส เชื่อว่าหลังจากนี้ประมาณ 5 ปี เราจะคุ้นเคยกับ DeFi และใช้กันเป็นปกติมากขึ้น โดยธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากคริปโทเคอเรนซีได้หลายรูปแบบ เช่น
- กระจายความเสี่ยงนำกำไรบางส่วนมาถือ Bitcoin หรือคริปโทเคอเรนซี่ตัวอื่น
- ลดต้นทุนธุรกรรมผ่านการใช้ protocol แบบไร้ตัวกลางเพื่อทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
- เพิ่มทางเลือกในการแลกเปลี่ยนมูลค่า เช่น ใช้คริปโทเคอเรนซี่เพื่อโอนเงินจำนวนไม่มากข้ามประเทศ
- การระดมทุนผ่านระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง
- แปลงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นเหรียญที่มีตัวตนในโลกดิจิทัล เช่น ทำ gift voucher
อย่างไรก็ตาม แม้การเงินไร้ตัวกลางจะนำมาซึ่งโอกาสแต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง ความสูญเสียจากการหลอกลวงโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi มีให้เห็นอยู่เสมอ ที่สำคัญการไร้ตัวกลางหมายความว่าความสูญเสียต่างๆ จะไม่สามารถถูกกู้คืนได้ จึงต้องลงทุนในแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือและได้รับการตรวจสอบโดย audit เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความผันผวนของคริปโทเคอเรนซี่ที่มีมากกว่าสินทรัพย์การลงทุนแบบดั้งเดิม ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาคือเครื่องป้องกันความเสี่ยงและเครื่องช่วยไขว่คว้าโอกาสในโลกการเงินไร้ตัวกลางของธุรกิจและนักลงทุนทุกคน
สรุป
โลกในปี 2030 จะไม่ใช่โลกใบเดิมที่เรารู้จักอีกต่อไป โปรตีนจากพืช เครื่องดื่มสังเคราะห์ รถไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ การศึกษา Nano-degree การรักษาด้วยการปรับแก้จีโนม อาจกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในยุคนั้น
ที่สำคัญ ยังมีเรื่องของระบบคริปโทเคอเรนซี่และระบบการเงินไร้ตัวกลางที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าโลกของการเงินและการลงทุนที่เราคุ้นเคยให้เปลี่ยนไป หลังจากนี้การทำธุรกรรมข้ามประเทศแบบไร้ตัวกลางจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เป็นโอกาสมหาศาลของธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงที่ประเมินไม่ได้
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ที่ร่วมให้ความรู้กับเราในวันนี้ต่างเห็นตรงกันว่าในท้ายที่สุด ความเปิดกว้างและการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จะช่วยก้าวข้ามความท้าทายและไขว่คว้าโอกาสที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา