SCB EIC ชี้ สัดส่วน หนี้ครัวเรือน ต่อ GDP ในไตรมาสสองอยู่ที่ 89.3% ผู้มีรายได้น้อยอาการหนัก

SCB EIC เผยผลวิจัย หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 2 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 89.3% อยู่ในเกณฑ์สูง

หนี้ครัวเรือน

กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลผลักดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

SCB EIC เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนโดยหลักมากจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะ ในไตรมาส 2 ปี 2021 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 5.3%

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนอื่นในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตในอัตราเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่ 6.8% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตมีการชะลอตัวลงในช่วงเวลาเดียวกัน

หนี้ครัวเรือน

ลักษณะการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่นำโดยสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบกับการเติบโตในอัตราที่สูง และเร่งขึ้นของสินเชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลง

GDP ฟื้นตัวเล็กน้อย ลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน

แม้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 จะขยายตัวเร่งขึ้น แต่อัตราการเติบโตของ GDP ที่ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากปัจจัยฐานต่ำ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 89.3% ต่อ GDP จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 90.6% โดยไตรมาส 2 ปี 2021 GDP ณ ราคาปัจจุบัน (nominal GDP) เติบโตสูงถึง 10.7% จากปีก่อน

หนี้ครัวเรือน

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่ nominal GDP หดตัวรุนแรงที่ -14.7%YOY ส่งผลทำให้ผลรวมของ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ปรับดีขึ้นมาเป็น -1.4% ในไตรมาสที่ 2 จาก -7.3% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 89.3% ในไตรมาส 2 ก็ยังถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดย ณ สิ้นปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8% ทั้งนี้จากข้อมูลของ Bank of International Settlement แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะลดลงมาบ้างจากจุดสูงสุด แต่ไทยก็ยังไม่หลุดจากการเป็นประเทศที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

หนี้ครัวเรือน

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงขึ้นอีก

SCB EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีกในปีนี้ ภายใต้สมมติฐานการเติบโต Real GDP ปี 2021 ของ EIC ที่ 0.7% คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ในช่วง 90%-92% หรือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นมากและมีมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวรวดเร็วในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว

หนี้ครัวเรือน

แม้ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามลำดับ แต่ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยน่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขไปอีกหลายปี

กลุ่มผู้มีรายได้น้อยลำบากที่สุดในวิกฤตนี้

ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงซึ่งบางส่วนยังมีการถูกพักชำระไว้ชั่วคราว ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนต้องกลับมาชำระหนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความท้าทายทั้งในแง่ของการบริหารจัดการหนี้และการใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครัวเรือนที่มีสภาพคล่องจำกัด

หนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้ภาคครัวเรือนก็น่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวกลับมาไม่ง่าย เพราะงานหลายประเภทโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวลดลงไปมากและจะฟื้นตัวช้า ขณะที่แนวโน้มงานที่เติบโตหลังโควิด เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ ไอที ก็ต้องการทักษะแรงงานที่ไม่เหมือนเดิม

EIC คาดว่าในระยะต่อไปครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะเข้าสู่ช่วงการซ่อมแซมงบดุลของตนเอง ด้วยการปรับลดการใช้จ่ายและลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มรายได้ เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ปรับลดลง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา