ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ มูลค่าการจับจ่ายใน เทศกาลกินเจ ปี 2021 ว่า มีมูลค่า 3,600 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากปี 2020 เนื่องจากมีปัจจัยลบทั้ง COVID-19 ยังระบาด, น้ำท่วม และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน
แม้ COVID-19 ดีขึ้น แต่ปัจจัยลบอื่น ๆ เพียบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายการเกี่ยวกับมูลค่าการจับจ่ายภายใน เทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค. ว่า จากสถานการณ์โรค COVID-19 ในประเทศไทยที่ดีขึ้น เช่น จำนวนผู้ป่วยต่ำกว่า 10,000 คนในบางวัน รวมถึงการเร่งกระจายวัคซีน แต่แค่นี้ไม่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายใน เทศกาลกินเจ ได้
เพราะยังมีปัจจัยลบอื่น ๆ เช่น สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และมีการณ์คาดการณ์ว่าจะมีพายุอีก 1-2 ลูก เข้ามาหลังจากนี้ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลไปถึงการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มผัก และการระวังการจับจ่ายของผู้บริโภค
ทำให้การจับจ่ายในช่วง เทศกาลกินเจ ปี 2021 จะมีมูลค่าราว 3,600 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากปี 2020 โดยจากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่อาจลดจำนวนวันลง เพราะต้องทำงานที่บ้าน และลดการออกจากบ้านที่ไม่จำเป็น ส่งผลกระทบถึงกลุ่มร้านอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ
เดลิเวอรี คือคำตอบของ ร้านอาหารเจ ในยุคนี้
ในทางกลับกัน ร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มค้าปลีกต่าง ๆ ที่หันมาทำตลาด เดลิเวอรี หรือส่งถึงบ้านมากขึ้น จะมีโอกาสสร้างยอดขายได้มากกว่าร้านที่เปิดให้ซื้อกลับบ้าน หรือนั่งรับประทานที่ร้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทพร้อมทาน, พร้อมปรุง หรืออาหารแช่แข็ง เพราะสะดวกต่อผู้ซื้อมากกว่า
จากผลสำรวจพบว่า 81% ของคนกรุงเทพฯ ที่จะกินเจในปี 2021 สนใจเลือกรับประทานกลุ่มโปรตีนทางเหลือ เช่น Plant-based Food เพราะต้องการลองรับประทาน และหาซื้อได้ง่ายขึ้น แต่ยังมีความกังวลเรื่องราคา และโภชนาการ ดังนั้นผู้พัฒนาสินค้าดังกล่าวหากแก้ปัญหาได้ย่อมสร้างโอกาสธุรกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การทำโปรโมชันรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มสินค้าโปรตีนทางเลือก จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าเพื่อรับประทานหลังสิ้นสุด เทศกาลกินเจ เพราะพวกเขารู้จัก และมีความมั่นใจในสินค้าผ่านการทดลองรับประทาน
ขับเคลื่อนกลุ่ม วีแกน ให้เติบโตในไทย
ขณะเดียวกัน เทศกาลกินเจ ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนกลุ่ม วีแกน ที่หมายถึงกลุ่มบริโภคมังสวิรัติ และเจ ให้มากกว่าปัจจุบันที่มีราว 9 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด ดังนั้นถ้ากลุ่มค้าปลีก และผู้ผลิตสินค้าโปรตีนทางเลือกทำผลงานได้ดีในเวลานี้ ย่อมมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตมากขึ้น
ทั้งนี้ปัจจัยการเติบโตของกลุ่ม วีแกน จะอ้างอิงกับเรื่อง ราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยในปี 2017 กลุ่มประชากรไทยที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์อยู่ที่ 12% ของประชากร และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในปี 2021
ปัจจุบันกระแส วีแกน ในตลาดโลกกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านทิศทางเรื่องสุขภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้มูลค่าธุรกิจของผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับ วีแกน เติบโตเช่นกัน อาทิ Beyond Meat ผู้ผลิตโปรตีนจากพืช มีมูลค่ากิจการ 6,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.16 แสนล้านบาท เป็นต้น
สรุป
การจับจ่ายในช่วง เทศกาลกินเจ ปี 2021 ฟื้นตัวลำบาก เพราะทุกคนลดการออกจากบ้าน และต้องประหยัดเงินในกระเป๋า แม้จะมีกระแสรักสุขภาพมาช่วยกระตุ้น แต่สุดท้ายผู้บริโภคเลือกใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นที่สุดมากกว่า และคงต้องรอดูว่า เทศกาลกินเจ ปี 2022 จะฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา