Sandbox ปศุสัตว์ก็มา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเสนอแนวคิดตั้ง Sandbox ปศุสัตว์ หวังเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น
สำหรับเกษตรกรรายย่อย มีการกำหนดเป้าหมาย คือการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยรัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค-กระบือ สุกร เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ควบคู่กับการทำการเกษตร โดยพลเอกประยุทธ์มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำ “Sandbox ปศุสัตว์” พิจารณากำหนดพื้นที่/ กลุ่มเป้าหมาย มีการควบคุมโรคสัตว์ให้เป็นโครงการนำร่อง ขณะเดียวกันก็หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาช่องทางส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและตลาดต่างประเทศที่ต้องการนำเข้าโคอยู่แล้ว
พลเอกประยุทธ์ย้ำว่าต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาคเกษตรและฝ่ายบริหารคือรัฐบาล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อช่วยกันหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกษตรกร ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ส่งเสริมปลูกพืชผสมผสาน ให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากนโยบายที่นายกฯ เริเริ่มไว้คือ ปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งโครงการไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริฯ รวมทั้งสร้างธนาคารอาหาร Food Bank ให้ชุมชนด้วย
คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 6 ชนิด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2564 มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้น ราคาอยู่ที่ 10,035-10,090 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 2.45%-3.01% เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
น้ำตาลทรายดิบราคาเพิ่มขึ้น 13.98-14.11 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.70%-1.60% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเดือนตุลาคม ส่งผลดีต่อราคาเอทานอลและกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและลดการผลิตน้ำตาลลง ประกอบกับอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้บราซิลผลิตอ้อยลดลง รวมทั้งปัญหาการส่งออกน้ำตาลของอินเดียที่ไม่แน่อนเนื่องจากมีการตัดสินเอาผิดจาก WTOเรื่องอินเดียมีนโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ทำให้ผลผลิตน้ำตาลในโลกลดลง
มันสำปะหลังราคาอยูที่ 2.13-2.18 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.47%-2.83 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูการผลิต ยังมีผลผลิตสู่ตลาดไม่มากและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.46-7.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.81%-5.44% เนื่องจากสต็อกน้ำมันจากพืชทั่วโลกลดลงจากคลื่นความร้อนและการระบาดของแมลงศัตรูพืชในประเทศผู้ผลิต รวมทั้งขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 124.77-126.08 บาท/กก เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.40%-2.50% และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.50-96.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.40%-0.93% เนื่องจากคลายมาตรการล็อกดาวน์ ร้านอาหารกลับมาดำเนินการปกติ
สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 5 ชนิด
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,350-7450 บาท/ตัน. ลดลงจากเดือนก่อน 0.10%-1.17% เนื่องจากตลาดโลกมีราคาข้าวลดลง ผลจากการควบคุมโควิดทำให้ขาดแคลนแรงงานกิจกรรมผลิตข้าว ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคา 8.010-8.204 บาท/ ตัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.71%-3.07% เนื่องจากน้ำฝนสะสมจากอิทธิพลพายุโกนเซินพัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือแหล่งผลิตข้าวเหนียว ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีเพิ่มขึ้น
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.95-8.08 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.60-2.20% เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยางพาราแผ่นดิบ 3 ชั้น ราคา 48-48.50 บาท/กก ลดลงจากเดือนก่อน 0.06%-1.19% เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ส่งผลต่อความต้องการนำเข้าจากยางพาราลดลง ประกอบกับทางตอนใต้ของไทยมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยาง สุกรราคาอยู่ที่ 64.73-66.11 บาท/กก ลดจากเดือนก่อน 1.37%-3.43% เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลกินเจ ประชาชนส่วนหนึ่งงดทานเนื้อสัตว์ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง
ที่มา – รัฐบาลไทย, ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา