พูดกันมาตั้งแต่ต้นปีเรื่องการเปิดตัวบริษัท Digital Ventures (DV) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในที่สุดก็ได้เวลาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อม 3 ผู้บริหาร 4 หน่วยธุรกิจ ภายใต้แนวคิด Fowarding FinTech นี่คือการเดินเกมเพื่อดึงคน และดึงงานด้าน Startup ของ SCB ที่ทั้งอุตสาหกรรมต้องสนใจอีกครั้ง
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร ของ DV บอกว่า FinTech ทั่วโลกเป็น Startup ที่มีการลงทุนมหาศาลในอเมริกา มีมูลค่าการลงทุน 13,000 ล้านเหรียญ ในอังกฤษมูลค่าการลงทุน 6,000 ล้านเหรียญ ขณะที่ในประเทศไทยมีประมูล 100 ล้านบาทเท่านั้น แสดงว่าในไทยยังมี Startup ด้าน FinTech จำนวนน้อย และยังขาดความเข้าใจด้านการลงทุน จึงเกิดเป็น Digital Ventures
ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นอย่างทางการ พร้อม LOGO ของบริษัทที่เรียกว่า Tangram หรือ ตัวปริศนาของจีนโบราณ 7 ชิ้น แต่สามารถต่อออกมาได้เป็นหมื่นรูปแบบ สะท้อนปรัชญาของ DV ที่อาศัยความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในวงการ FinTech ได้ไม่รู้จบ
ธนา บอกหลายครั้งว่า DV ไม่มีข้อจำกัดของธนาคาร ซึ่งจะนำเงินฝากของลูกค้าไปทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นจึงกลายเป็นจุดเด่นของ DV กับ 4 หน่วยธุรกิจ ด้วยงบประมาณ 1,750 ล้านบาท ต่อไปนี้
เรียนรู้ เข้าใจ ผ่านการลงทุน
“ทุนองค์กร หรือ Corporate Venture Capital” ภายใต้การขับเคลื่อนของ พลภัทร อัครปรีดี – Managing Director, Corporate Venture Capital ใช้เงินทุนเริ่มต้น 700 ล้านบาทลงทุนเพื่อเรียนรู้ในกองทุนด้าน Startup จากทั่วโลก (Fund of Fund) เริ่มต้นที่ Golden Gate Ventures กองทุน Startup ที่ประสบความสำเร็จมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สัปดาห์ที่ผ่านมา DV ได้เข้าลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Life.SREDA ซึ่งเป็น venture capital ระดับโลกในด้าน Financial Technology มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ สิงคโปร์ การร่วมมือกับ Life.SREDA จะเอื้อประโยชน์ให้ DV ในเชิงกลยุทธ์ ทั้งด้านงานวิจัย และในด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการให้บริการทางการเงินในอนาคตได้
พลภัทร อัครปรีดี MD ที่ดูแลด้านนี้ มีประสบการณ์ด้านการเงินการลงทุนในต่างประเทศ ผ่านการร่วมงานกับ Central Retail ดูแลงานด้านกิจการร่วมค้าในระดับภูมิภาค เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำ Apple เข้าสู่เอเชีย โดยเปิด Flagship Stores ในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และยังเป็น Mentor ให้กับนักลงทุนในธุรกิจ Startupในอเมริกา จีน และไทย
ต่อยอด FinTech งานดี ทั้งในและนอกประเทศ
“พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล” นำโดย สุวิชชา สุดใจ – Managing Director, Digital Products มีภารกิจทางด้านงานวิจัย ทดลองสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบต่างๆ เน้นที่ 4 หัวข้อหลักคือ Internet of Things, Biometrics, Blockchain และ Machine Learning (AI) โดยการทดลองจะทำผ่าน SCB SimLab ซึ่งเป็น Bank Simulation Platform ที่ SCB ร่วมมือกับ IBM ในการทำระบบขึ้นมา จะมีการเปิด API เป็นครั้งแรกให้ Startup สามารถนำไปใช้งานได้
หน่วยธุรกิจนี้ จะต้องพิจารณาว่า มี FinTech จากทั้งในและต่างประเทศที่มีบริการน่าสนใจ สามารถนำออกสู่ตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หรือไม่ จากนั้นอาจจะใช้วิธีการร่วมทุน หรือซื้อกิจการเพื่อนำมาให้บริการในประเทศ ถือเป็นการลงทุนโดยตรงของ DV มีงบประมาณ 980 ล้านบาท
สุวิชชา สุดใจ MD ที่ดูแลด้านนี้ มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบโครงสร้าง วางแผนกลยุทธ์ร่วมกับ Accenture และ IBM ในอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะสมกับตลาดเป็นอย่างดี
DV Accelerator จุดเริ่มต้น Startup 101
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ หรือ “Accelerator” โดย ชาล เจริญพันธ์ – Head of Accelerator เพราะมองว่า Accelerator ในไทยยังมีน้อยเกินไป การจะส่งเสริมให้เกิด Startup จำนวนมาก ต้องมี Accelerator มากกว่านี้ ไม่ใช่ต้องรอถึง 1 ปีเพื่อสมัครเข้าโครงการซึ่งก็อาจจะช้าไปแล้ว
Accelerator ของ DV เรียกตัวเองว่า DV Accelerator batch Zero (DVA b0) มีลักษณะเป็น MBA for Startup ให้ความรู้ในทุกๆ ด้านตั้งแต่จุดเริ่มต้น เรียกว่าเป็น Startup 101 ใช้งบประมาณเบื้องต้น 70 ล้านบาท เพื่อเป็นบทเรียนตลอดเวลาประมาณ 9-12 สัปดาห์ มี Mentor ให้คำปรึกษาแบบ 1 ต่อ 1 ตลอดโครงการ และได้เงินทุนให้เปล่า 300,000 บาท เปิดรับ Startup ทั่วไป 50% และ FinTech 50% เพื่อเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และถ้าเข้าตา SCB พร้อมลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยเปิดรับสมัครภายในเดือน สิงหาคม 59 นี้เ
ชาล เจริญพันธ์ MD ด้าน Accelerator เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ HUBBA เชี่ยวชาญการตั้ง Startup Community รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกับ Startup ต่างๆ
เปิดกว้าง หาคน พร้อมสร้างสรรค์งานใหม่
ธนา บอกว่า หน่วยธุรกิจด้าน Lab จะเน้นสร้างสรรค์งานและบริการใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ยังรวมอยู่กับ Digital Products และยังเฟ้นหาตัว MD ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลงานด้านนี้อยู่ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดตัว DV อย่างเป็นทางการ จะมีส่วนช่วยให้ได้มีโอกาสเจอบุคคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งจะต้องดึงเข้ามาทำงานร่วมกันให้ได้
ต้องบอกว่า DV เป็นบริษัทเล็กๆ แต่คิดทำการใหญ่ ซึ่งหัวใจอยู่ที่ “คน” ที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คิดแตกต่างออกจากกรอบ และต้องกล้าที่จะเสี่ยงทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ ดังนั้นเวลานี้ DV จึงเปิดกว้าง พร้อมรับทั้ง Startup และบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการ FinTech ไปพร้อมกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา