ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว ตามหลังประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ที่ล่วงหน้าไปก่อน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านเพื่อรองรับประชากรที่สูงอายุมากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือเศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy ที่น่าจะมีส่วนช่วยได้
สังคมสูงวัย เมกะเทรนด์ของโลกที่ต้องรับมือ
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า สังคมผู้สูงวัยถือเป็นอีกเมกะเทรนด์หนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรผู้สูงวัยโลกที่มีอายุกว่า 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนกว่า 1,500 ล้านคนในปี 2593
ขณะที่ประเทศไทยจำนวนผู้สูงวัยในตอนนี้สูงถึงประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2576 โดยในอีก 30 ปีข้างหน้าคาดว่าประชากรกลุ่มเกษียณและเตรียมเกษียณจะมีจำนวนถึง 30 ล้านคน ดังนั้น ถ้าผู้สูงวัยไม่สามารถก้าวทันดิจิทัล พวกเขาจะประสบปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ธนาคาร และบริการของภาครัฐ นอกจากนี้ พวกเขายังต้องการทักษะดิจิทัลเพื่อพัฒนาการสร้างรายได้เพิ่ม ดีแทคเน็ตทำกิน จึงมุ่งมั่นที่จะปิดช่องว่างดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยในประเทศไทย
การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขอย่างมาก จากแนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ ซึ่งปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ “ปัญหาภาระพึ่งพิงทางสังคมของผู้สูงวัย” (Social Dependency) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อวัยแรงงานจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7% เป็น 56.2% ในอีก 20 ปีข้างหน้า
เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ Silver Economy หนึ่งในทางออก
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ Silver Economy ถือเป็น 1 ใน 5 สาขาเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ หากผู้สูงวัยได้รับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้เป็นผู้สูงวัยที่เข้มแข็งทั้งกายและใจ ก็จะนำมาซึ่งโอกาสมหาศาลในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจผู้สูงวัยในประเทศที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 5-10% ต่อปี
นอกจากนี้ ดีป้า มองว่าการส่งเสริมให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมยังช่วยส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุผ่านเทคโนโลยี IoT การสร้างเกมเพื่อพัฒนาการทำงานของสมองในผู้สูงวัย การติดตามสุขภาวะสุขภาพเชิงดิจิทัล และการเข้าถึงการรักษาแบบออนไลน์”
ดีแทค เน็ตทำกิน ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+
ดีแทคมองว่าดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญ (Key enabler) ที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต สร้างพฤฒพลังให้ผู้สูงวัย ส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของผู้สูงวัย เปลี่ยนจากประชากรผู้มีความเปราะบางสู่ประชากรที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อสังคมอย่างยั่งยืน และดีแทคเน็ตทำกิน ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจนี้
“โครงการดีแทค เน็ตทำกิน” ในภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 3 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาผู้สูงวัย “ยังแฮปปี้” กำหนดจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างเสริมทักษะและความรู้ในการค้าขายออนไลน์ การแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจดิจิทัล รวมทั้ง การให้ความรู้เพื่อรับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์ให้ผู้สูงวัยด้วย ภายใต้โครงการนี้ ดีแทคจะเป็นพี่เลี้ยง ร่วมเป็นแอดมินเพจ และช่วยแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการออนไลน์วัยเก๋าหน้าใหม่จนกว่าจะมีความมั่นใจและสานต่อดูแลธุรกิจออนไลน์ของตัวเองได้ ทั้งนี้ ดีแทคและองค์กรพันธมิตรมุ่งหวังที่จะเห็น ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง เป็นผู้สูงวัยที่มีพฤฒพลังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณภาพสังคมที่ดีขึ้น
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ดีแทคโดยทีมงานดีแทคเน็ตทำกินจะรับผิดชอบการอบรมการตลาดออนไลน์ ให้บริการพี่เลี้ยงและหาจุดขายให้แก่ผู้สูงวัย ขณะที่ดีป้าให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนโครงการและเชื่อมโยงพันธมิตรกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยจะทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการและร่วมจัดการอบรมเกี่ยวกับการรับมือกับภายเสี่ยงในโลกออนไลน์ ในส่วนของ ยังแฮปปี้ นั้นจะรับผิดชอบทางด้านการคัดเลือกผู้เข้าอบรม รูปแบบและการบริหารกิจกรรม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ลำพัง ต้องการหารายได้เสริม โดยตั้งเป้าอบรมผู้สูงวัยจำนวนทั้งสิ้น 250 คนในระยะแรกนี้
ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า นอกจากประเด็นการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการส่งเสริมผู้สูงวัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่หลงเชื่อข่าวลวงข่าวปลอม ไม่ถูกหลอกลวงฉ้อโกง ตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam หรือการขายยาอาหารเสริมต่าง ๆ สามารถใช้ดิจิทัลสร้างความสุข ลดช่องว่างระหว่างวัยกับบุตรหลาน รวมถึงสามารถหารายได้ทางการใช้ดิจิทัล สร้างคุณค่าเสริมความแข็งแกร่งในการพึ่งพาตนเอง
ธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังแฮปปี้ (YoungHappy) กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงวัย กล่าวว่า ยังแฮปปี้ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ลดปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจที่เสื่อมถอยตามกาลเวลา ป้องกันโอกาสเสี่ยงในการเป็นผู้สูงวัยติดบ้านและติดเตียง เพื่อขยายช่วงเวลาของการเป็น Active Aging หรือผู้สูงวัยที่ยังคงแอคทีฟออกไปให้มากที่สุด ด้วยคอนเซปต์ ‘สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้’ ด้วย
ชารัด กล่าวเสริมว่า ในวาระที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งสูงวัยสุขภาวะดี (Decade of Healthy Ageing) ดีแทคในฐานะองค์กรเอกชนและ corporate citizenship ที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสังคมสูงวัยยุคดิจิทัลที่แข็งแรงผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างสังคมดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตเท่าเทียม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา