แม้รัฐบาลจะประโคมนโยบายฟื้นฟูท่องเที่ยวชุดใหญ่ ทั้งเราเที่ยวด้วยกันเฟส ทัวร์เที่ยวไทย และแผนเปิดประเทศใน 120 วัน แต่วิจัยชี้ชัดท่องเที่ยวจะดีขึ้นหากได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อการระบาดของโควิด-19 ยังคงฉุดรั้งการท่องเที่ยวที่เป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงต้องประโคมนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุดใหญ่ ทั้งเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย ไปจนถึงแผนการใหญ่อย่าง “แผนเปิดประเทศใน 120 วัน”
แต่น่าเสียดายว่าหน่วยวิจัยของธนาคารใหญ่ 2 แห่ง ไม่ได้มองว่าบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือที่รัฐบาลพยายามนำเอามาใช้จะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยได้เยอะเหมือนเก่า โดยคาดเอาไว้ว่าเมื่อสิ้นปีมาถึง จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 จะอยู่ในหลัก 1 แสนคนเท่านั้น
พึ่งพาต่างชาติสูง แต่ตอนนี้สร้างความมั่นใจให้ไม่ได้
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปมากหลังโควิด-19 แพร่ระบาด ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดจนถึงเดือนสิงหาคม รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 3.55 ล้านล้านบาท พูดให้เห็นภาพก็คือลดลงกว่า 79% จากก่อนการระบาดในปี 2562
และเม็ดเงินที่หายไปจำนวนนี้ก็เป็นรายได้จากต่างชาติถึง 2 ใน 3 ส่วนที่เหลือคือเม็ดเงินจากคนไทย
- รายได้จากชาวต่างชาติลดลง 2.38 ล้านล้านบาท
- รายได้จากคนไทย 1.17 ล้านล้านบาท
ทีนี้เราโยนสถิติทิ้งไป ตัวเลขที่หายไปเหล่านี้คือชีวิตของผู้คน และผู้คนที่ถูกกระทบหนักสุดก็คือผู้คนในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไกด์ และธุรกิจอื่นๆ ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้คนในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี พังงา
เมื่อประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP และบางจังหวัดยังพึ่งพาภาคเศรษฐกิจนี้เป็นพิเศษ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อการท่องเที่ยวล้มครืนลงมา ภาครัฐต้องกระเสือกกระสนประโคมนโยบายกันยกใหญ่
แต่คำถามก็คือ ด้วยนโยบายที่มี (และที่จะมีมาเพิ่ม) จะช่วยกู้วิกฤติภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวของต่างชาติได้หรือไม่?
โชคร้ายที่คำตอบของศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจของธนาคารในไทย 2 แห่ง บอกว่าช่วยได้แต่ไม่ได้ดีขนาดนั้น
High Season ก็ยังไม่ฟื้นเพราะปัญหาวัคซีนฉุดรั้งทุกอย่าง
ttb analytics และ วิจัยกรุงศรี ไม่เชื่อว่าปาฎิหาริย์การท่องเที่ยวช่วง High Season ซึ่งปกติคือช่วงไตรมาส 4 จะเกิดขึ้น ถ้าดูจากบทวิเคราะห์ ttb analytics คาดเอาไว้ว่าปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแค่ 1 แสนคน
ในเรื่องนี้วิจัยกรุงศรีมองเอาไว้คล้ายๆ กัน โดยคาดเอาไว้ใกล้เคียงกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอยู่ในหลักแสนเช่นเดียวกัน คือ 150,000 คน แถมยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่านี่คือการคาดการณ์โดยนับรวมปัจจัยที่ว่าประเทศไทยกระจายวัคซีนได้ดีขึ้นเอาไว้แล้ว
สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ก็คือการเปิดประเทศที่ถูกเลื่อนออกไป เพราะความไม่พร้อมภายในประเทศหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการกระจายวัคซีน วิจัยกรุงศรีชี้ชัดว่าการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวของไทยและภูมิภาคเอเชียอาจล่าช้า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้บรรยากาศของประเทศไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
ปัญหาวัคซีนทำการเปิดประเทศล่าช้าไปอีก
เดิมทีประเทศไทยวางแผนจะเปิดประเทศภายใน 4 Steps คือ
- Phuket Sandbox เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564
- สมุย พลัส โมเดล เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2564
- ส่วนขยายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2564 (เปลี่ยนแปลง)
- 10 จังหวัดท่องเที่ยว (กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และบุรีรัมย์) เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 (เปลี่ยนแปลง)
และหลังจากนี้ รัฐบาลก็มีแผนที่จะเปิดอีก 20 จังหวัด ในเดือนธันวาคม และเปิดอีก 13 จังหวัดในเดือนมกราคม
แต่ตอนนี้มีหลายๆ ส่วนที่ในแผนที่ต้องล่าช้าออกไป ไม่ว่าจะเป็น ส่วนขยายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7 ที่ขยับมาเปิดจริง 16 สิงหาคม 10 จังหวัดท่องเที่ยว ที่จะขยับไปเปิด 1 พฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมบางอย่างของประเทศไทย
สาเหตุที่เกิดความล่าช้าในหลายพื้นที่เป็นเพราะความไม่พร้อมด้านวัคซีน เช่น หัวหิน (พื้นที่ในกลุ่ม 10 จังหวัดท่องเที่ยว) ที่วางแผนจะเปิดในเดือนตุลาคม แต่จนถึงปลายเดือนกันยายนก็ยังฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมเพียง 64.18% จาก 80% ของกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีการฉีดวัคซีนของจีนคือ Sinopharm เป็นหลัก
เพราะการเปิดประเทศ 10 จังหวัดถูกเลื่อนออกไป (+ปัญหาผู้ติดเชื้อสูง) ชาวต่างชาติจึงมีความลังเลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศที่ยังไม่มีความแน่นอนในนโยบาย ttb analytics จึงคาดว่ากว่าต่างชาติจะเข้ามาได้ก็ต้องรอไปถึงช่วงต้นเดือนธันวาคม
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม High Season จะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวเท่านั้น และท่องเที่ยวไทยจะยังถูกขับเคลื่อนด้วยคนไทยไปก่อน
ท่องเที่ยวไทยอาจได้แรงหนุนจากคนไทยด้วยกันเอง
ปลายปี 2564 ต่างชาติยังมาน้อย ส่วนนักท่องเที่ยวไทยจะโตต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เป็นต้นมา ตามมุมมองของ ttb analytics เพราะมีนโยบายที่หนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างน้อย 3 ตัวมาบรรจบกันในช่วงนี้พอดี คือ
- เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3
- ทัวร์เที่ยวไทย
- มาตรการคลายล็อกดาวน์
ดังนั้น จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่จะฟื้นตัวก่อนจะเป็นกลุ่มที่พึ่งนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก ได้แก่ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมปี 2565 จะทยอยกลับมาอยู่ระหว่าง 32.7 – 43.3% เทียบกับศักยภาพอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เคยทำได้ในปี 2562 อยู่ระหว่าง 66 – 74%
พื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ได้แก่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี กระบี่ กรุงเทพฯ และสงขลา คาดว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมในปี 2565 จะค่อนข้างต่ำอยู่ระหว่าง 11.3 – 27.2% เทียบกับศักยภาพอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เคยทำได้ในปี 2562 อยู่ระหว่าง 66 – 83% ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะเน้นกลุ่มต่างชาติเป็นหลัก
[opinion] ต้องไม่ลืมว่านี้คือการฟื้นตัวจากแย่มากไปสู่แย่น้อยกว่าเดิม สังเกตได้ว่าตัวเลขที่ฟื้นขึ้นมาก็ยังอยู่ห่างจากระดับก่อนการระบาดอยู่มากโข จึงต้องระมัดระวังการตีความข้อเท็จจริงนี้ไปในทิศทางบวกมากจนเกินไป และเราในฐานะประชาชนจึงยังจำเป็นต้องเรียกร้องในทุกช่องทางเพื่อผลักดันให้ภาครัฐเดินหน้าไปในทิศทางที่สอดคล้องกับประโยชน์ของสาธารณชน
ที่มา – ttb analytics, วิจัยกรุงศรี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา