รายงานผลการสำรวจจาก DDProperty เผยให้เห็นว่า ทุกประเทศในอาเซียนล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 มีการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามถูกปรับลดคาดการณ์ลงจากขยายตัวเฉลี่ย 4.3% ลดลง 0.6% เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาจาก IMF มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยตรงและส่งผลต่อความสามารถในการซื้อบ้านเป็นของตัวเองด้วย
ความพึงพอใจต่อบรรยากาศตลาดที่อยู่อาศัยในอาเซียนลดลง
DDProperty เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group เผยว่าคะแนนความพึงพอใจต่อบรรยากาศตลาดที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากโควิดกลายพันธุ์กระจายเร็วและส่งผลอย่างรุนแรง
คะแนนความพึงพอใจในรอบล่าสุดของชาวอินโดนีเซียลดลงจาก 73% เป็น 69% ส่วนสิงคโปร์ลดลงจาก 48% เป็น 41% ขณะที่ไทยลดลงจาก 48% เป็น 43% มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่พึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก 43% เป็น 63% สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการมากมายเพื่อควบคุมการเก็งกำไรและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ผู้บริโภคในมาเลเซียและสิงคโปร์มองว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่ที่ 41% และ 45% ตามลำดับ อินโดนีเซีย 44% และไทย 39% ส่วนประเด็นเรื่องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราดอกเบี้ยสูง คนไทยเพียง 19% มองว่า สมเหตุสมผลแล้ว ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียน
หนี้ครัวเรือนคนไทยสูง อุปสรรคใหญ่ทำให้มีบ้านของตัวเองไม่ได้
ส่วนมุมมองความต้องการที่อยู่อาศัยและการวางแผนทางการการเงินของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Y แถบอาเซียนอยู่ในช่วงวัยทำงานและเริ่มซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง พบว่าในอาเซียนส่วนใหญ่มีความพร้อมและวางแผนจะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ ชาวอินโดนีเซียมีความพร้อมมากที่สุดกว่า 4 ใน 5 หรือ 84% ตั้งใจย้ายออกไปเพื่อหาที่อยู่เป็นของตัวเอง ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์มีกว่า 3 ใน 4 หรือประมาณ 79% และ 77% ตามลำดับที่มีแนวโน้มจะย้ายออกจากบ้านตนเอง
สวนทางกับคนไทยที่มากกว่าครึ่ง หรือราว 58% ที่เผยว่าไม่มีแผนจะย้ายออกในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้คนไทยไม่สามารถย้ายออกจากบ้านของพ่อแม่ได้
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในสิ้นปี 2564 โดยพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ของปี 2564 ใช้เพื่อซื้ออสังหาฯ สูงสุดถึง 34% อีกทั้งลูกหนี้ที่เข้าโครงการรับการช่วยเหลือในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมาจากหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มียอดขอความช่วยเหลือรวมสูงถึง 4.5% ของ GDP เทียบกับยอดหนี้เสีย NPL อยู่ที่ 0.6% ของ GDP
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มมิลเลนเนียลในอาเซียนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ระบุว่า สภาพคล่องทางการเงินและการครองตัวเป็นโสดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยังไม่ย้ายออก รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างๆกันในแต่ละประเทศ มาเลเซียไม่ย้ายออกเพราะมีเงินเก็บไม่เพียงพอ 62% ไม่แต่งงานจึงยังไม่ย้ายออก 48% และอสังหาริมทรัพย์มราคาแพงเกินไป เก็บเงินไว้ดีกว่าจะซื้อบ้าน 31%
อินโดนีเซียมีมุมมองคล้ายกับชาวมาเลเซีย มีเงินไม่พอที่จะซื้อหรือเช่าที่อยู่ใหม่ของตัวเองทำให้ไม่ตัดสินใจย้ายออก 55% ไม่แต่งงาน 45% อยากอยู่ดูแลพ่อแม่ 31%
สิงคโปร์ส่วนใหญ่มองว่า ที่ยังไม่แต่งงานและโครงการที่อยู่อาศัยแบบ Build to Order มีความล่าช้า เป็นอุปสรรคใหญ่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 41% ตามด้วยปัญหาการเงิน 24% ขณะที่ไทยไม่ย้ายออกจากพ่อแม่ เกือบครึ่งหรือ 49% เผยว่าต้องการอยู่กับครอบครัวและคอยดูแลพ่อแม่ ตามด้วย ไม่มีเงินเพียงพอในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ 43% และตั้งใจที่จะรับช่วงต่อบ้านจากพ่อแม่อยู่แล้ว 22%
โควิดพ่นพิษ ทำให้คนหันมาวางแผนสำรองเงินฉุกเฉินมากขึ้น
นอกจากประเด็นทั้งหมดที่ว่ามาแล้ว เทรนด์ที่มาแรงสำหรับการวางแผนการใช้จ่ายทางการเงินในอีก 1 ปีข้างหน้าของกลุ่มมิลเลนเนียลในอาเซียนคือการออมเงินเพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งทางเลือกของการออมเงินคือออมทรัพย์ในดอกเบี้ยสูงหรือกองทุนมาแรงอย่างเห็นได้ชัด คนหันมาสนใจวางแผนการเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในอาคต
กว่า 3 ใน 4 ของชาวสิงคโปร์หรือ 76% วางแผนเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ตามด้วยการเก็บเงินไว้ชำระหนี้ 39% นำเงินไปใช้เพื่อท่องเที่ยวในวันหยุด 35% ส่วนชาวมาเลเซีย 65% ให้ความสนใจในการเก็บเงินเพื่อสร้างกองทุนฉุกเฉินมาเป็นอันดับแรกเช่นกัน ครึ่งหนึ่งหรือ 50% เผยว่านำเงินไปซื้อที่อยู่อาศัย และ 40% ต้องการนำเงินไปใช้หนี้ที่ค้างอยู่
ขณะที่ไทยยังคงให้ความสนใจในการบริหารจัดการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการสร้างกองทุนฉุกเฉิน 61% ตามด้วยนำเงินไปใช้จ่ายภายในครอบครัวในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกันที่ 60% และเก็บเงินไว้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ 54% สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคช่วงวัยนี้มีบทบาทในการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมากขึ้น
ที่มา – DDProperty, (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา