เมื่อ Michelin เข้ามาติดดาว หรือ Michelin Star ให้กับร้านอาหารในไทย หลายคนคงอยากรู้ว่าหลักเกณฑ์ และการได้มาของดาวนั้นคืออะไรบ้าง รวมถึงการเข้ามาครั้งนี้จะกระทบถึง Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารหรือไม่ ลองมาติดตามกัน
ดาวมิชลินมาจากสิ่งที่อยู่ในจานเท่านั้น
The stars are in the plate and only in the plate หรือดาวมิชลินมาจากสิ่งที่อยู่ในจานเท่านั้น ทำให้การได้มาซึ่งดาวต้องทำให้อาหารแต่ละจานดีที่สุด เพราะเรื่องสถานที่ตั้ง, การตกแต่งร้าน, งานบริการ และปัจจัยอื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การให้ดาวข้องผู้ตรวจสอบร้านอาหารของ Michelin Guide แต่อย่างใด
ดังนั้นการจะได้มาซึ่งดาว ร้านอาหารต้องคำนึงถึง 5 ข้อดังนี้
- คุณภาพของสินค้า ที่ต้องสดใหม่ และปรุงมาอย่างพิถีพิถันในทุกจานที่ออกมาเสิร์ฟ
- การจัดเตรียม และรสชาติ ที่แตกต่าง และดูมีความน่าสนใจ รวมถึงเรื่องขั้นตอนต่างๆ ในการเสิร์ฟด้วย
- ความใส่ใจของเชฟ เพราะกว่าแต่ละจานจะมีรสชาติที่ดี นอกจากการปรุง และวัตถุดิบที่สด ใจเชฟก็ต้องอยู่ในอาหารด้วย
- ความคุ้มค่ากับราคา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงราคาถูก แต่หมายถึงคุณภาพ และรสชาติ ต้องคุ้มกับเงินที่จ่ายไป
- การักษาคุณภาพของรสชาติ เพราะในที่นี้ผู้ตรวจสอบของ Michelin Guide อาจไปร้านเดิมหลายๆ ครั้งก็ได้
และจาก 5 ข้อข้างต้น ทำให้โอกาสที่ร้านอาหารในประเทศเทศไทยตั้งแต่ระดับ Street Food จนถึง Fine Dining ก็มีโอกาสได้รับ Michelin Star ทั้งนั้น โดยตัวดาวนี้แบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1 ดาว หมายถึงร้านอาหารที่อร่อยมากกว่าเมื่อเทียบกับร้านประเภทเดียวกัน, 2 ดาว หมายถึงร้านอาหารที่อร่อยจนคุ้มกับการขับออกนอกเส้นทางมาชิมซักครั้ง และ 3 ดาว หมายถึงร้านที่อร่อยเป็นพิเศษ คุ้มค่ากับการเดินทางไกลเพื่อไปลิ้มลอง
Wongnai มองเป็นเรื่องดี สร้างความคึกคักให้ Fine Dinning
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai บอกว่า Michelin Guide เข้ามาให้บริการในประเทศได้ ไม่ได้ส่งผลกับ Wongnai แต่ส่งผลดีต่อภาพรวมของร้านอาหารแบบ fine dinning ให้มีความคึกคักขึ้นมา คนจะสนใจเรื่องการรีวิว การให้คะแนนร้านอาหาร และตัวร้านอาหารก็จะใส่ใจเรื่องมาตรฐาน และการให้บริการมากขึ้น ทั้งหมดเป็นผลดี
“เรื่องนี้คงไม่กระทบกับ Wongnai ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ Michelin Guide เหมือนกับการให้รางวัล Oscars ส่วน Wongnai เหมือนกับเว็บ imdb ที่ให้คะแนนภาพยนตร์ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลได้หมด”
นอกจากนี้ ทั้ง Michelin Guide และ Wongnai มี Segment ที่แตกต่างกัน คือ Michelin จะเน้น fine dinning เป็นหลัก มี streetfood เข้ามาบ้างบางส่วน ขณะที่ Wongnai ครอบคลุมทั้งหมด กลุ่มคนใช้งาน Michelin มีทั้งไทยและต่างประเทศ ร้านอาหารราคาสูง กลุ่มคนระดับ B+ ขึ้นไป ส่วน Wongnai เป็นคนไทยทั้งหมดเป็นหลัก
สรุป
โอกาสของร้านอาหารในประเทศไทยจะได้ Michelin Star นั้นมีอยู่ตลอดทั้งปีนี้ เพราะผู้ตรวจของ Michelin ไม่ได้บอกว่าจะมาวันไหน เมื่อไหร่ หรือเผยตัวให้เจ้าของร้านรู้ ดังนั้นการเตรียมตัวให้ได้ 5 ข้อข้างต้น อาจมีวันหนึ่งที่ผู้ตรวจ Michelin อาจเข้ามาในร้านก็ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา