แม้ว่าตอนนี้อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึงระดับแสนล้านเหรียญ เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 10 ล้านคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บริษัทไอทีขนาดใหญ่หลายรายในอินเดีย กำลังปลดวิศวกรด้านไอทีออกเป็นจำนวนมาก ต้นเหตุมาจากแรงงานมีทักษะไม่ถึงเกณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ
จากปัญหาแรงงานทักษะต่ำ ถึง อัตราว่างงานครั้งใหญ่ในอินเดีย
แม้จะมีการเติบในภาคอุตสาหกรรมไอทีอย่างต่อเนื่อง จนมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านเหรียญ (หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท) แต่วิศวกรด้านไอทีในอินเดียกำลังย่ำแย่ เพราะทักษะที่มียังต่ำกว่าที่ตลาดต้องการ
Wipro บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่อันดับ 3 ของอินเดียปลดพนักงานด้านไอทีออกไปกว่า 600 คน ในขณะที่บริษัทด้านไอทีอย่าง Cognizant ที่มีฐานหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกามีรายงานออกมาว่ากำลังพิจารณาเลิกจ้างพนักงานกว่า 6,000 รายในอินเดีย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Infsosys บริษัทไอทีรายใหญ่อันดับ 2 ของอินเดียยืนยันแล้วว่าจะปลดพนักงานประมาณ 2,000 คนในทุกๆ ไตรมาส และจะลดนโยบายการเพิ่มบุคลากรด้านไอทีในอินเดียอีกด้วย
เนื่องจากอุตสาหกรรมในอินเดียมีขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 10 ล้านคน เห็นได้ชัดว่าแรงงานในจำนวนนี้จะได้รับความเดือดร้อนในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน งานวิจัยจาก Hfs เผยว่า แรงงานทักษะต่ำในอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียจำนวนกว่า 640,000 คนจะตกงานในปี 2021 และงานส่วนที่เหลือทั้งหมดสามารถทดแทนได้ด้วยระบบอัตโนมัติ
Srinivas Kandula หัวหน้าแผนกด้านปฏิบัติการไอทีของ Capgemini พูดในงาน NASSCOM ไว้ว่า “อินเดียจะพบกับปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่ คาดว่าน่าจะประมาณ 100,000 คน”
ทางออกคือต้องเพิ่มทักษะ จบไอที แต่ต้องทำได้มากกว่าไอที
ปัญหาคือ วิศวกรไอทีชาวอินเดียส่วนใหญ่จบจากสถาบันไอทีที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ไม่มีทักษะเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดไอทีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีผลการศึกษาหนึ่งพบว่า คนไอทีอินเดียจำนวน 36,000 คน มีเพียง 4.77% เท่านั้นที่จะมีคุณสมบัติในระดับที่ต่ำที่สุดสำหรับงานด้านไอที
ถ้าจะปรับตัวเพื่อให้มีความพร้อมในการแข่งขันในตลาด Prasar Sharma ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีของ Mumbai’s SP Jain School of High Technology บอกว่า “ทักษะการเขียนโปรแกรมทั่วๆ ไป ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว คุณต้องมีความเชี่ยวชาญด้านอื่นด้วย เช่น Data Science (วิทยาศาสตร์ข้อมูล) Machine Learning (ศาสตร์แขนงหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง) หรือ Cyber Security (ความปลอดภัยทางไซเบอร์) แต่น้อยคนนักที่จะได้ฝึกฝนมาด้านนี้โดยเฉพาะ”
ที่มา – QUARTZ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา