เอลซัลวาดอร์ คือ ประเทศแรกที่กำหนดให้ Bitcoin เป็นเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะราบรื่น แล้วอะไรคือปัญหาของเรื่องนี้
เอลซัลวาดอร์ ประเทศแรกที่ยอมรับ Bitcoin
เมื่อวานนี้ เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกที่มี Bitcoin เป็นสกุลเงินทางการ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หลังจากมีการผ่านมติเห็นชอบในสภาไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยล่าสุดรัฐบาลเอลซัลวาดอร์เข้าซื้อ Bitcoin ทั้งสิ้น 550 เหรียญ (8 ร้อยล้านบาท) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
It appears the discount is ending ?
Thanks for the dip @IMFNews. We saved a million in printed paper.
El Salvador now holds 550 bitcoin.#BitcoinDay #BTC ??
— Nayib Bukele ?? (@nayibbukele) September 7, 2021
หมายความว่า หลังจากนี้ประชาชนสามารถนำสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขนมปัง หรือจ่ายค่าแท็กซี่ ผ่านแอปพลิเคชั่น Chivo ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่พัฒนาโดยภาครัฐ
โดยรัฐบาลจะโน้มน้าวประชาชนให้หันมาใช้ Bitcoin และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้มากขึ้นโดยการแจกเงิน 30 ดอลลาร์สหรัฐ (980 บาท) ในรูปของ Bitcoin
แต่แน่นอนว่า Bitcoin คือนวัตกรรมทางการเงินที่ใหม่ ประชาชนหลายคนยังไม่มีความเข้าใจหลักการทำงานจึงนำไปสู่ความไม่มั่นใจ ไม่สนับสนุน ไปจนถึงต่อต้านการใช้ Bitcoin เป็นสกุลเงินหลัก
ความผันผวน ช่องว่างดิจิทัล ความไม่เข้าใจถ่องแท้ คืออุปสรรค
ความผันผวน คือ สิ่งที่เราทราบกันดีว่าเป็นข้อจำกัดหลักๆ ของ Bitcoin หากเราย้อนดูมูลค่าของ Bitcoin จะเห็นภาพชัดเจน
- กันยายน 2020 มีมูลค่า 1 หมื่นดอลลาร์ (3.3 แสนบาท)
- เมษายน 2020 มีมูลค่า 6.3 หมื่นดอลลาร์ (2 ล้านบาท)
- กรกฎาคม 2020 มีมูลค่า 3 หมื่นดอลลาร์ (9.8 แสนล้านบาท)
อย่างล่าสุด มูลค่าของ Bitcoin ร่วงลงมา -12% ภายในวันเดียว เห็นได้ชัดว่า Bitcoin มีความผันผวนมากๆ
Daniel Hercules คนขับแท็กซี่ในเอลซัลวาดอร์ระบุว่า “จริงๆ แล้วเขาค่อนข้างสนใจในก้าวใหม่ๆ ครั้งนี้ของรัฐบาล แต่ก็กังวลว่ารายได้ของเขาจะไม่มั่นคงเพียงพอ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือการสูญเสียเงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของการทำงานทั้งวัน”
ช่องว่างด้านดิจิทัล คือ อีกหนึ่งอุปสรรคของการนำ Bitcoin มาใช้เป็นสกุลเงินอย่างเป็นทางการ ในเอลซัลวาดอร์ประชาชนประมาณ 3.28 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต คิดเป็น 50.5% หมายความว่าหากเกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ประชาชนเกือบครึ่งจะพลาดโอกาสตรงนี้ทั้งทางตรง (เข้าไม่ถึงเลย) และทางอ้อม (เข้าถึงแต่ไม่เข้าใจมากเพียงพอ) นอกจากนี้ ประชาชนเกือบ 1 ใน 4 ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน
แน่นอนว่าหลายๆ คนสามารถจัดการและแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนใน Bitcoin ได้ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าการประกาศให้ Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินอย่างเป็นทางการ หมายความว่าในแง่หนึ่งทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม และในประเทศที่หลายคนยังอยู่ในความยากจน บางคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีเท่าที่ควร ประชาชนหลายคนอาจต้องเข้ามาแบกรับความเสี่ยงที่อยู่เหนือความสามารถที่จะแบกรับ
แต่หากประชาชนเหล่านั้นไม่ยอมแบกรับก็อาจทำให้พลาดโอกาสทางเศรษฐกิจบางอย่างไปเช่นเดียวกัน โจทย์สำคัญเรื่องหนึ่งของรัฐคือการลดช่องว่างด้านดิจิทัลและสร้างความรู้ความเข้าใจในสกุลเงินดิจิทัลอย่างครอบคลุม
José Lopez คนขัดรองเท้า วัย 81 ปี กล่าวว่า “ความจริงก็คือในฐานะคนจน เราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้น”
ความไม่เข้าใจ คืออีกหนึ่งปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาสืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการการเข้าถึงและศึกษาข้อมูล ผลสำรวจโดย Central American University (CAU) ระบุว่ามีเพียง 4.8% จากกลุ่มตัวอย่างที่เข้าใจว่า Bitcoin ทำงานอย่างไร และนำไปใช้ได้อย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าความไม่เข้าใจ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐไม่สามารถกระจายองค์ความรู้และทรัพยากรเพื่อเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัล ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการใช้ Bitcoin ในลักษณะที่กว้างขวางกว่าเดิม
ผู้คนกว่า 68% จากการสำรวจของ CAU ไม่เห็นด้วยกับการนำ Bitcoin มาใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย
สรุป
ด้วยความที่ Bitcoin เป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังมีงานที่ต้องทำ เช่น การสร้างการเข้าถึง ความเข้าใจ และกระจายทรัพยากรถึงคนทุกชนชั้นมากขึ้น จึงจะทำให้การปรับไปใช้ Bitcoin ราบรื่นขึ้น
อย่างไรก็ตาม Nayib Bukele ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ยังมองเรื่องนี้ในมุมบวก และประกาศวิสัยทัศน์ไว้อย่างชัดเจนว่า “การเปลี่ยนไปใช้ Bitcoin ในเอลซัลวาดอร์เป็นเรื่องที่ต้องลงแรงเพื่อปรับตัวเรียนรู้กันต่อไป ทุกครั้งที่เราต้องปรับตัวไปสู่อนาคตมันจะเป็นอย่างนี้เสมอ ความสำเร็จในทุกๆ เรื่องๆ ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียวหรือแม้กระทั่งเดือนเดียว แต่เราต้องกล้าที่จะก้าวข้ามอะไรก็ตามที่เป็นอดีตไปแล้ว”
Como toda innovación, el proceso del #Bitcoin en El Salvador tiene una curva de aprendizaje. Todo camino hacia el futuro es así y no se logrará todo en un día, ni en un mes.
Pero debemos romper los paradigmas del pasado. El Salvador tiene derecho a avanzar hacia el primer mundo.
— Nayib Bukele ?? (@nayibbukele) September 6, 2021
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา