ขณะที่ไทยยังเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่ม EU ก็เตรียมยกเลิก และเดินหน้าพลังงานสะอาดเต็มตัว

พลังงานสะอาด, พลังงานทางเลือก หรือพลังงานสีเขียว จะอย่างไรก็ตามมันก็ดีกว่าการใช้พลังงานที่ทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตอนนี้กลุ่มประเทศยุโรปเริ่มวางแผนยกเลิกกันแล้ว แต่ประเทศไทยยังดูเหมือนย่ำอยู่กับที่

โรงไฟฟ้าถ่านหิน // ภาพ pixabay.com

กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังไม่จบ

แม้ว่าผลวิจัยที่รายงานว่าพลังงานถ่านหินทำลายธรรมชาติอย่างไรบ้าง รวมถึงต้นทุนทางเทคโนโลยีของพลังงานสะอาดที่ต่ำลง ทำให้การใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมเริ่มเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่ประเทศไทยก็ยังเคลียร์ปัญหาเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ยังไม่จบเสียที

โดยขั้นตอนการอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่อยู่ระหว่างรอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. สรุปความเห็นในวันที่ 28 เม.ย. ก่อน หลังเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อปลายเดือนมี.ค. และหากสรุปว่าผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการจ้างที่ปรึกษาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะไม่มีการจัดจ้างแต่อย่างใด

ภาพ pixabay.com

ยุโรปที่เจริญแล้วกลับยกเลิกถ่านหิน

ในทางกลับกันกลุ่มประเทศยุโรปกลับเดินหน้ายกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง หลังจากต้นทุนการใช้พลังงานสะอาดปรับตัวลดลง หลังจากกลุ่มยุโรปใช้พลังงานนี้มากว่า 500 ปี และทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านการเผาไหม้จนเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลถึงปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน และอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, ออสเตรีย และฟินแลนด์ ต่างก็กางนโยบายชัดเจนที่จะยกเลิกการใช้พลังงานดังกล่าว เช่นในปี 2568 สหราชอาณาจักรจะหยุดใช้พลังงานถ่านหิน โดยตอนนี้ก็เตรียมตัวด้วยการขึ้นราคาถ่านหินเป็นเท่าตัว เพื่อกดดันให้กลุ่มธุรกิจโรงงานไฟฟ้าหันไปใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น

ภาพ pixabay.com

เมื่อแข่งขันไม่ได้ก็ต้องถอยจากตลาด

ราวปี 2573 ต้นทุนในการผลิตพลังงานทางเลือกจะเทียบเท่า และเริ่มต่ำกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เช่นพลังงานลมที่มีต้นทุนราว 50 ดอลลาร์สหรัฐ/เมกะวัตต์/ชม. แต่พลังงานถ่านหินกลับค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 50 ดอลลาร์/เมกะวัตต์/ชม. เป็น 60 ดอลลาร์/เมกะวัตต์/ชม. ในปี 2583 ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผู้ผลิตหลายรายจะมาลงทุนในพลังงานสะอาด

Joachim Rumstadt ประธานบอร์ดบริหารของ Steag ผู้ให้บริการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเยอรมันที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในยุโรป ย้ำว่า เมื่อมีพลังงานที่ดีกว่า ถ่านหินก็คงอยู่ลำบาก ยิ่งรัฐบาลเยอรมันประกาศนโยบาย Energiewende ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่นอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทต้องปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าว

สรุป

เมื่อต้นทุนพลังงานสะอาดถูกกว่า ก็คงไม่มีเหตุผลอื่นที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะออกมาขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนพลังงานใหม่ ไม่ใช่ดันทุรังจะสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีเดิมที่ทำลายธรรมชาติ หรือหากเร่งด่วนจริงๆ ก็อาจแก้ไขกฎหมายในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเกิดการแข่งขันในตลาดบ้าง โดยเฉพาะพลังงานแสดงอาทิตย์ที่ประเทศไทยน่าจะเหมาะ เพราะมีแสงแดดตลอดทั้งปี

อ้างอิง // Bloomberg, กรุงเทพธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา