E-Commerce คืออุตสาหกรรมที่พูดได้เต็มปากว่าได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เต็มๆ หากจะตีเป็นตัวเลขชัดๆ E-Commerce เติบโตจากช่วงก่อนโควิดถึง 80% พูดกันง่ายๆ ก็คือเกือบเท่าตัว
แต่ที่น่าจับตาคือทิศทางของ E-Commerce ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทาง KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ก็ได้ออกรายงานพูดถึงแนวโน้มและโอกาสในสมรภูมิ E-Commerce ไทยไว้อย่างน่าสนใจ
ทิศทาง E-Commerce ไทย เติบโตต่อเนื่องไป 5 ปี
หลังจากนี้การเติบโตในภาพรวมของ E-Commerce ไทยและอาเซียนจะไม่ใช่การกระโดดแบบ 80% อย่างที่ผ่านมาในช่วงโควิดอีกต่อไป แต่จะเป็นการเติบโตในระดับที่ยังเรียกได้ว่าสูงและมีต่อเนื่อง
ขนาดของตลาด E-Commerce จะโตขึ้นปีละ 20% ต่อเนื่อง 5 ปี จากการประเมินของ KKP Research
- ปี 2021 ตลาด E-Commerce มีขนาด 3 แสนล้านบาท
- ปี 2025 ตลาด E-Commerce มีขนาด 7.5 แสนล้านบาท
ด้วยตัวเลขขนาดนี้ ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในปี 2025 จะมีสัดส่วนเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม พูดง่ายๆ ทุกๆ การช้อปปิ้ง 100 บาท จะมี 16 บาท ที่เป็นเราจ่ายไปกับการซื้อของออนไลน์
เทียบกับเพื่อนบ้าน ตลาด E-Commerce ไทยใหญ่แค่ไหน?
KKP Research ให้คำตอบว่า ตลาด E-Commerce ไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ตามหลังอินโดนีเซีย แต่เมื่อหากวัดว่าผู้ใช้แต่ละคนซื้อของมากแค่ไหน ไทยยังอยู่ในอันดับ 4 ตามหลัง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาด E-Commerce ไทย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเติบโต ยังมีโอกาสอีกมากมาย และที่สำคัญ ตลาด E-Commerce ของไทย (รวมถึงอาเซียน) ยังมี 3 ปัจจัยสนับสนุนให้เติบโตได้สูง คือ
- การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ที่ 80%)
- การใช้งานมือถือและโซเชียลอย่างเข้มข้น (อาเซียนมีจำนวนผู้ใช้ Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลก)
- ความแพร่หลายของบริการชำระเงินออนไลน์ (ไทยมีการใช้ Mobile Banking สูงที่สุดในโลก และมีการชำระเงินผ่านมือถือสูงที่สุดในโลก อันดับ 2)
ภูมิทัศน์ตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนไป: ค้าปลีกดั้งเดิม-ธุรกิจข้างเคียง ต้องปรับตัว
แน่นอนว่าเมื่อการเปลี่ยนแปลงของค้าปลีกเกิดขึ้นมากขนาดนี้ กลยุทธ์ของธุรกิจค้าปลีกย่อมต้องไม่เหมือนเดิม KKP Research ชี้ให้เห็นว่าหลังจากนี้สูตรสำเร็จ 3 ข้อที่เคยเป็นหัวใจของการค้าปลีกจะเปลี่ยนไป
- ทำเลใกล้ผู้บริโภค ถูกแทนที่ด้วย การส่งสินค้าถึงบ้าน
- ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ถูกแทนที่ด้วย คะแนนรีวิวและยอดขาย
- ประสบการณ์หน้าร้าน ถูกแทนที่ด้วย online support
เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่อุตสาหกรรมค้าปลีกตรงๆ เท่านั้น แต่ยังนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่อุตสาหกรรมข้างเคียงของธุรกิจค้าปลีกอีกด้วย
- ค้าปลีกและร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีหน้าร้าน อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ สื่อดั้งเดิม ถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด
- ธุรกิจคลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง และโฆษณาออนไลน์ จะเติบโตขึ้น
รัฐอยู่ตรงไหนของการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัลของประเทศ?
เมื่อตลาด E-Commerce ของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโต KKP Reseach จึงวิเคราะห์ว่าภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใหม่ให้เติบโตด้วยความมั่นคงได้ด้วยมาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ เช่น
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับโลจิสติกส์และคลังสินค้า
- สนับสนุนการชำระเงินออนไลน์และการจัดเก็บภาษีให้เป็นระบบและมีความโปร่งใส
- ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์สู่ตลาดภูมิภาค โดยลดขั้นตอนและกฎระเบียบของการค้าข้ามพรมแดน
ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าทิศทางของตลาด E-Commerce ไทย ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผลักให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมไปจนถึงธุรกิจอื่นๆ ต้องปรับตัวกันยกใหญ่เพราะภูมิทัศน์ของการค้าปลีกหลังจากนี้จะมีการค้าปลีกออนไลน์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเริ่มต้นเติบโตได้อย่างมั่นคงแน่นอนว่าคงไม่พ้นรัฐที่จะต้องเข้ามาบทบาทสนับสนุนหลายๆ อย่าง เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ จากทั้งในและนอกประเทศต่อไป
เข้าถึงรายงาน ‘ตีแผ่สมรภูมิ E-Commerce ไทย ตรงไหนคือโอกาส’ โดย KKP Researh ได้ ที่นี่
ที่มา – KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา