สรุปแล้ว เช็ค = เงินสด หรือไม่?

จากข่าวที่ สิระ เจนจาคะ ปฏิเสธไม่รับเช็คเงินสดมูลค่า 10 ล้านบาทจาก ไฮโซลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย โดยหาว่า เช็ค ไม่ใช่ เงินสด สรุปแล้ว ไฮโซลูกนัท ผิดกติกา หรือ สิระ เข้าใจผิดเองล่ะ?

เช็ค

เช็คคืออะไร?

คงไม่ต้องอธิบายว่า เงินสด คืออะไร เพราะแทบทุกคนใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วน เช็ค ถ้าอธิบายแบบทางการโดยอ้างอิงจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพบว่า เช็ค คือ เอกสารในรูปแบบของตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่ง ธนาคาร ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน

ถ้าอธิบายง่าย ๆ เช็ค คือตัวแทนเงินสดที่เจ้าของเช็คมีเงินในบัญชีธนาคาร และพร้อมจ่ายเมื่อผู้ได้รับเช็คใบนั้นนำไปยื่นกับธนาคารที่ใช้บริการเพื่อเบิกเป็นเงินสด หรือนำเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่ใช่ว่าหลังจากนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วจะเบิกเงินสด หรือนำเงินเข้าบัญชีได้ทันที เพราะอยู่ที่ประเภทของเช็ค รวมถึงการพิจารณาความถูกต้อง ยิ่งเช็ค กับการขึ้นเงินเป็นคนละธนาคารกันย่อมใช้เวลานานขึ้น

สำหรับประเภทของเช็คแบ่งเป็น

  • เช็คสั่งจ่ายโดยลูกค้าธนาคาร อธิบายง่าย ๆ คือ เจ้าของบัญชีสั่งซื้อสมุดเช็ค เช่นของ ธนาคารกรุงเทพ ราคา 15 บาท/ฉบับ เพื่อเขียนสั่งจ่ายด้วยตัวเอง เหมือนกับที่ ไฮโซลูกนัท ใช้สั่งจ่ายให้ สิระ แบ่งเป็นสองประเภทคือ
    • เช็คบุคคลธรรมดา
    • เช็คนิติบุคคล
  • เช็คสั่งจ่ายโดยธนาคาร
    • แคชเชียร์เช็ค เช็คที่ระบุจำนวนเงิน และชื่อผู้รับชัดเจนจากธนาคาร หากขึ้นเงินไม่ตรงกับจังหวัดของสาขาที่ออกเช็คจะต้องเสียค่าธรรมเนียม
    • เช็คของขวัญ คล้ายกับ แคชเชียร์เช็ค แต่มีข้อความ หรือลวดลายพิเศษ
    • ดราฟต์ แตกต่างกับ แคชเชียร์เช็ค และ เช็คของขวัญ เพราะผู้ซื้อดราฟต์ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามราคาบนหน้าดราฟต์ แต่ผู้รับเงินไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกรณีนำไปขึ้นเงินคนละจังหวัดกับสาขาที่ออกดราฟต์
    • เช็คขีดคร่อม แบ่งเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป เช่น A/C Payee Only และเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ซึ่งทั้งสองแบบต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีเท่านั้น จะเป็นธนาคารใดก็ได้ หรือเฉพาะธนาคาร แล้วแต่การถูกกำหนด

ปัจจุบันการพิจารณาเช็คมีเทคโนโลยี Imaged Cheque Clearing and Archive System หรือ ICAS ที่ใช้ภาพแทนเช็คตัวจริง ทำให้ผู้ได้รับเช็คสามารถเรียกเก็บ และถอนเงินได้เร็วขึ้น หรือใช้เวลาภายใน 1 วันทำการ ซึ่งรวมถึงกรณีเรียกเก็บข้ามจังหวัด

แล้วถ้าเช็คเด้งขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อ เช็ค แทบจะเป็นตัวแทนของ เงินสด ดังนั้นหากผู้ได้รับเช็คนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารของตัวเอง แต่เงินในบัญชีผู้สั่งจ่ายเช็คกับมีเงินไม่พอ เรียกง่าย ๆ ว่า เช็คเด้ง หากอ้างอิงตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือ พ.ร.บ. เช็ค โทษจากการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย พร้อมมีการกระทำลักษณะใดลักษณะหนึ่งคือ

  • เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
  • ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
  • ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
  • ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
  • ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต (มาตรา 4 วรรคหนึ่ง)

ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามพระราชบัญญัตินี้จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ ได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย และธนาคารได้ปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น โดยความผิดดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 4 วรรคสอง) แต่ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นการสอบสวนของพนักสอบสวนหรือในชั้นการพิจารณาของศาล (มาตรา 5)

และการควบคุมตัวหรือการขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ซึ่งในที่นี้หมายถึง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 แต่สิทธิการดำเนินคดีอาญาอาจระงับได้ หากได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพัน หรือระงับไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด (มาตรา 7)

ผู้เสียหายอาจ ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามกฎหมายตั๋วเงิน รวมไปกับคดีอาญาได้ ถ้าหากจำนวนเงินตามเช็คนั้นไม่เกินอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษาได้ ในที่นี้คือเงินตามเช็คพิพาทใบเดียวหรือหลายใบไม่เกินสามแสนบาท แต่การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่น การทำคำฟ้อง การยื่นคำให้การ การขาดนัด ฯ ล ฯ (มาตรา 8)

สรุป

เมื่อมองมาขนาดนี้ เช็ค แทบจะกลายเป็น เงินสด ในชีวิตจริง แม้นำไปใช้ไม่ได้ทันที แต่ก็มีเทคโนโลยีในการพิจารณาเช็คให้เร็วขึ้น ส่วนกรณีพิพาทระหว่าง ไฮโซลูกนัท กับ สิระ อันนี้ต้องอยู่ที่ว่า สิระ มองเช็คว่าคืออะไร เป็นแค่กระดาษเฉย ๆ หรือเป็นกระดาษที่มีมูลค่าตามที่เขียน แต่อยากให้รู้ว่า เงินสด มีตัวเลขเขียนไว้บนกระดาษเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา