อีกไม่นานก็จะครบรอบ 2 ปีหลังจากโควิด-19 ระบาดครั้งแรก ครบรอบ 2 ปี ที่เรา Work From Home กันจากที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ที่สำคัญสิ่งที่เกิดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาก็คือการที่เราลางานน้อยลง
ทำไม Work From Home ถึงทำให้เรากล้าลางานกันน้อยลง?
สำหรับสาเหตุของการลาน้อยลงในช่วงนี้ บางคนอาจจะบอกว่าเพราะสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ไปเที่ยวที่ไหนไม่ได้ จะให้ลายาวๆ ก็เสียดาย แต่คำตอบจริงๆ อาจจะอยู่ที่เรารู้สึกผิดที่จะหยุดทำงานไปนั่งเฉยๆ ต่างหาก
เพราะในช่วงเวลาแบบนี้ การลาหมายความว่าคุณจะได้พักผ่อนอยู่ในพื้นที่เดิมๆ เช่น บ้าน แล้วประเด็นคือในช่วง Work From Home บ้านก็เปรียบเสมือนที่ทำงาน
กลายเป็นว่าการลาอยู่บ้านทำให้เรารู้สึกเหมือนเรากำลังกินแรงคนอื่นที่กำลังทำงานอยู่เพราะเราเองก็อยู่หน้าคอมจะเปิดขึ้นมาทำงานก็ได้ หรือถ้าหากออกไปเที่ยวได้ การระบาดก็ทำให้มีแนวโน้มว่าเราจะอยู่ในที่พักมากขึ้นและความโชคร้ายคือ เรายังเชื่อมต่อกับออฟฟิศอยู่เสมอสถานการณ์จึงอาจไม่แตกต่างอะไรจากการลาพักอยู่บ้านนัก
ก่อนการระบาดเกิดขึ้น การลางานไม่ได้ทำให้เรารู้สึกผิด เพราะการลาไปเที่ยวไกลๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดความคิดที่ว่า ‘อยู่หน้าคอมแท้ๆ แต่ไม่เปิดคอมขึ้นมาทำงาน’
พูดกันง่ายๆ ก็คือ สาเหตุที่ทำให้เรากล้าลาได้น้อยลงคือการที่เส้นแบ่งระหว่าง ชีวิต และ งาน พร่าเลือนลงจากการ Work From Home เรามองบ้านเป็นสถานที่เดียวกับออฟฟิศมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามือว่างเมื่อไหร่ก็มีความรู้สึกว่าต้องทำงาน การลาเพื่อพักอยู่บ้านให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการลาแล้วนั่งอยู่ในออฟฟิศ
WFH ก็เครียดอยู่แล้ว ยิ่งไม่ลาพักก็ยิ่งสุขภาพจิตแย่
ประเด็นก็คือ นี่คือเรื่องใหญ่สำหรับการทำงาน เพราะการที่พนักงานทำงานแบบไม่หยุดพักเลย (โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่คนมีแนวโน้มทำงานหลังเลิกและทำงานในวันหยุดมากขึ้น) ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงานเอง ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้นอาจส่งผลให้ productivity โดยรวมของบริษัทลดลง
วิธีแก้คือเปลี่ยนมุมมองต่อวันลา จากเดิมที่วันลาจะมาในรูปของการลาพักร้อนติดต่อกันเป็นอาทิตย์ เราอาจจะเปลี่ยนไปลาพักทีละนิด เช่น ขอลา 1 วัน เพื่อผ่อนคลายตัวเอง เป็นเหมือนการแวะพักดื่มน้ำเพื่อวิ่งต่อในการแข่งขันมาราธอน ซึ่งอาจทำให้สะดวกใจที่จะลามากขึ้น แต่ที่สำคัญคือผลลัพธ์ของการลาแค่ 1 วันใหญ่กว่าที่คาด
ถ้าสงสัยว่าการลาจะได้ผลมากแค่ไหนก็ให้ลองเปรียบเทียบการทำงาน 5 วันแล้วได้พัก 2 วัน กับสถานการณ์เหล่านี้ดู
- ทำงาน 4 วัน พัก 3 วัน (ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์)
- ทำงาน 2 วัน พัก 1 วัน (พุธ) ทำงาน 2 วัน พัก 2 วัน (เสาร์ อาทิตย์)
และถ้าหากใครยังกังวลการลาจะเป็นการกินแรงคนอื่น ก็ให้ลองดูกรณีศึกษาจาก Microsoft ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ เพราะหลังจากประกาศให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ พนักงานมีแนวโน้มมีความสุขขึ้น ส่งผลให้บริษัทมี productivity เพิ่มขึ้นถึง 40% ถ้าหากใครยังกังวลอยู่ก็ให้มองว่าลาแล้วจะทำงานได้ดีขึ้นก็ได้
การสร้างสุขภาวะในการทำงานที่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล เพราะท้ายที่สุดการอนุมัติการลาหรือพูดให้ไกลกว่านั้นคือการออกแบบชีวิตการทำงานส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบริษัท การเคารพในสิทธิที่พึงมี (เช่น การลา) ของพนักงานในองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของพนักงานดีขึ้น ไม่เช่นนั้น ภาวะเครียด การหมดไฟ อาจจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในพนักงานขององค์กร และนั่นคงไม่ส่งผลดีต่อบริษัทสักเท่าไหร่
ที่มา – CNA
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา