คนไทยมีทักษะความรู้เรื่อง Cyptocurrency ดีแค่ไหน?

  • คนไทยรู้จักคริปโทเคอร์เรนซีมากถึงราวร้อยละ 69.4 และมีความสนใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมากถึงร้อยละ 52.0
  • ร้อยละ 48.0 ตอบว่าไม่ลงทุนและไม่สนใจที่จะลงทุน เพราะมองว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่มีความผันผวนสูง ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มากพอ
  • จากการประเมินในเบื้องต้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีกว่าร้อยละ 80 มีทักษะความรู้ความเข้าทางการเงินเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 44.2 สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการลงทุนโดยที่มีความรู้ไม่เพียงพอในอนาคต ภายใต้ความผันผวนของราคาคริปโทเคอร์เรนซี่ที่อยู่ในระดับสูง

Cryptocurrency

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจทักษะความรู้เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีของกลุ่มตัวอย่างในไทย ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในลักษณะโฟกัสกรุ๊ปเพื่อการศึกษานี้เท่านั้น และไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรในวงกว้างหรือทั้งหมดของประเทศ โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโลกการลงทุน นำมาซึ่งภาวะดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนบางส่วนจึงได้พยายามสรรหาสินทรัพย์ใหม่ในการลงทุน

Cryptocurrency กลายเป็นจุดหมายของนักลงทุนบางส่วนที่คาดหวังอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือคาดหวังถึงความเสี่ยงที่ลดลงจากการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน จากเดิมที่ลงทุนแต่สินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้น พันธบัตรรัฐบาล และทองคำ เป็นต้น

ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ระดับโลกบางรายที่ยอมรับการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว มูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีทะยานขึ้นสูง ท่ามกลางราคาที่ยังคงมีความผันผวนสูง โดย ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2564 ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีมูลค่าอยู่ราว 2.09 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตสูงถึงร้อยละ 467.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน ทางการในหลายๆ ประเทศต่างมีข้อคัดค้านด้านการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การออกผลิตภัณฑ์ รวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากเป็นกังวลถึงการใช้เป็นช่องทางการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกกฎหมาย การสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการเงิน รวมถึงกังวลด้านความเสียหายจากการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อนักลงทุน อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีที่มากพอ 

Cryptocurrency เงินดิจิทัล
ภาพจาก Shutterstock

คนไทยที่ลงทุนในคริปโต ยังมีจำนวนน้อย

กลุ่มคนที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30 – 39 ปี และมีรายได้สูงเฉลี่ยราว 50,000 บาทต่อเดือน สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เริ่มรู้จักและสนใจที่จะลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีไม่มากนัก โดยมักจะกระจุกตัวอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มสังคมเมืองที่อยู่ในวัยทำงานตอนกลางที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับหนึ่ง รวมถึงมีรายได้และเงินออมในระดับสูง

สอดคล้องกับผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้ทำการสำรวจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และมุ่งสำรวจไปยังกลุ่มโฟกัสกรุ๊ปดังกล่าว จะพบข้อมูลสรุปที่น่าสนใจว่า จากกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปทั้งหมด มีคนที่รู้จักคริปโทเคอร์เรนซีมากถึงราวร้อยละ 69.4 และมีคนสนใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมากถึงร้อยละ 52.0 โดยมีช่องทางการรู้จักสามอันดับแรก ได้แก่ อ่านบทความตามเว็บไซต์หรือเพจที่น่าเชื่อถือ (ร้อยละ 29.9) พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนหรือคนรอบข้าง (ร้อยละ 22.9) และข่าวสาร (ร้อยละ 14.6)

ขณะที่อีกราวร้อยละ 48.0 ตอบว่าไม่ลงทุนและไม่สนใจที่จะลงทุน นั่นคงเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ยังมองว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่มีความผันผวนสูง ขณะที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีที่มากพอ

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่ทำการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี โดยพบว่า เป็นกลุ่มวัยทำงานตอนกลาง (อายุ 30 – 39 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักสนใจเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว อีกทั้ง ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้และเงินออมอยู่ในระดับสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 50,000 บาท และมีเงินออมเฉลี่ยราวร้อยละ 28.9 ของรายได้ต่อเดือน นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คนที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีในไทยน่าจะยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับประชากรคนไทยทั้งหมด เพราะคนไทยที่มีทั้งความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีรายได้และเงินออมสูง ยังมีไม่มากนัก

Cryptocurrency
ภาพจาก Shutterstock

คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคริปโตฯ แม้จะลงทุนอยู่แล้วก็ตาม

คนที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับมีทักษะความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ในระดับต่ำ โดยจากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวัดทักษะความรู้ทางการเงินของกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปอยู่ 2 ด้าน ทั้งในมิติของคำจำกัดความของคริปโทเคอร์เรนซี และสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีที่เคยได้ยินหรือลงทุน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักตอบไม่ถูกต้อง โดยหลายคนเข้าใจเพียงแค่ว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเพียงสกุลเงินดิจิทัลที่มีไว้ซื้อขายเพื่อเก็งกำไร และหลายคนก็รู้จักคริปโทเคอร์เรนซีในนามของบิตคอยน์เท่านั้น

แท้จริงแล้ว สกุลเงินดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซีสามารถเป็นได้มากกว่านั้น โดยสามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สิทธิ และแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ได้ ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีก็มีอยู่หลากหลายสกุล โดยปัจจุบัน มีมากถึง 11,349 สกุล 

จากการประเมินเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มีทักษะความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 44.2 สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดความสูญเสียกับนักลงทุนไทยในอนาคต ภายใต้ความผันผวนของราคาที่อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ถึงเหตุผลเชิงลึกของนักลงทุนเหล่านั้น ก็จะพบว่า เหตุผลสามอันดับแรกที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี คือ ต้องการเรียนรู้ถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ (ร้อยละ 26.5) เชื่อมั่นว่าราคาของคริปโทเคอร์เรนซีจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และคาดหวังผลตอบแทนที่สูง (ร้อยละ 21.0) และต้องการความท้าทายใหม่ๆ เพราะคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูง (ร้อยละ 19.5) สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนไทยในตลาดคริปโทคริปโทเคอร์เรนซีได้ในระดับหนึ่ง

ภาพจาก shutterstock

ไม่มีอะไรแน่นอน การศึกษาให้เข้าใจ คือสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ การศึกษาข้างต้น ดำเนินการจากกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่มีจำนวนตัวอย่างจำกัดอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ดังนั้น การตีความใดๆ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะผลทางสถิติอาจจะเปลี่ยนแปลงตามขนาดของกลุ่มตัวอย่างได้

อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจข้างต้น ก็สะท้อนถึงข้อสังเกตบางประการที่น่าเป็นกังวล นั่นคือ การที่นักลงทุนบางส่วนลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีเพียงเพราะความเชื่อมั่นว่าราคาจะสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เห็นเพื่อนหรือคนรอบข้างลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีแล้วได้ผลตอบแทนสูง จึงคาดหวังถึงผลตอบแทนที่สูง ซึ่งแน่นอนว่า ภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูง ภายใต้แรงกดดันของการยอมรับการมีอยู่หรือการใช้งานอย่างถูกกฎหมายของทางการ การตอบสนองต่อความคาดหวังของนักลงทุนเหล่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดกลับมีทักษะความรู้ความเข้าใจทางการเงินเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความสูญเสียจากการลงทุนจึงสูงขึ้นตาม และหลายคนก็อาจถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการร่วมลงทุนที่ผิดกฎหมายอย่างแชร์ลูกโซ่ 

ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโจทย์ของทางการในระยะถัดไปว่าจะกำกับดูแลตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไรให้ลดความเสี่ยงหรือลดความสูญเสียอันจะเกิดกับนักลงทุนในตลาด รวมถึงการกำกับดูแลการใช้งานคริปโทเคอร์เรนซีให้อยู่ในกรอบที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมระบบการเงินและอธิปไตยทางการเงินของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ก็ยังเป็นโจทย์สำหรับผู้เล่นในแวดวงคริปโทเคอร์เรนซีในการวางแนวทางในการสร้างความน่าเชื่อถือ และให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาของตลาดในทิศทางที่เหมาะสม รวมถึงการที่นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลรอบด้าน เพื่อให้ตัวเลือกใหม่นี้กลับมาสร้างประโยชน์ต่อการใช้งานและการลงทุนที่ยั่งยืนจริงๆ

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา