data center หนึ่งในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากโควิด
การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนำเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งธุรกิจ data center เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้ประโยชน์โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคมาสู่วิถีใหม่ (new normal) ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้น
- Digital transformation หรือการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจในระดับองค์กร ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- หน่วยงานภาครัฐมีแนวโน้มผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางของภาครัฐ รวมถึงการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน
มูลค่าตลาด Data Center ของโลกเติบโต
EIC วิเคราะห์ว่ามูลค่าตลาดการให้บริการ data center รวมของโลกจะเติบโตต่อเนื่องราว 23%CAGR ในช่วงปี 2020-2022 โดยมีปัจจัยหนุนจากตลาด public cloud ที่เติบโตโดดเด่น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้งานในระดับองค์กรภายใต้วิถีใหม่ (new normal) ได้เป็นอย่างดี
สำหรับมูลค่าตลาด data center รวมในปี 2022 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12 ล้านล้านบาท) โดยในอดีตตลาดการให้บริการ data center มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2018-2020 อยู่ที่ 22%CAGR หนุนโดยปริมาณการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล และอัตราการเข้าถึงสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้อัตราการเติบโตดังกล่าวมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งสำคัญให้องค์กรนำเทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และคาดว่าเทรนด์ดังกล่าวจะยังดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์สามารถช่วยลดต้นทุนในด้านไอทีให้กับองค์กรและยังช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้า (customer relationship service, CRM) ซอฟต์แวร์การประชุมระยะไกล (teleconference), ซอฟต์แวร์การจัดทำเอกสารออนไลน์และ e-signature เป็นต้น
และจากการรวบรวมข้อมูลงานศึกษาแนวโน้มธุรกิจ data center ของสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ EIC ประเมินว่ามูลค่าตลาด colocation จะเติบโตได้ในอัตราที่ช้ากว่าตลาด data center โดยรวม โดยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 8%CAGR มาอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2020-2022 เนื่องจากมีแรงกดดันของลูกค้าบางส่วนที่อาจเปลี่ยนไปใช้บริการ public cloud แทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวขององค์กรเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน ขณะที่ตลาด public cloud มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 25%CAGR มาอยู่ที่ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022
แต่มูลค่าตลาด Data Center ไทยต่ำกว่าตลาดโลก
ขณะเดียวกันมูลค่าตลาดให้บริการ data center ของไทย มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าตลาดโลก โดยคาดว่าในช่วงปี 2020-2022 ตลาดจะปรับตัวขึ้น 20%CAGR มาอยู่ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2018-2020 ซึ่งเติบโตประมาณ 19%CAGR
สำหรับตลาด colocation คาดว่าจะเติบโตราว 6%CAGR มาอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท ในปี 2022 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าตลาดโลก (8%CAGR) เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2021-2022 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการในบางธุรกิจตัดสินใจชะลอการลงทุนด้านสินทรัพย์ไอทีลง หรือบางส่วนมีการเปลี่ยนไปใช้งาน public cloud มากขึ้น เนื่องจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อยกว่า
ขณะที่ตลาด Public cloud ของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงกับตลาดโลก (25%CAGR) โดยคาดว่าจะขยายตัวถึงราว 24%CAGR มาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2022 จากการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ภายในองค์กรที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าตลาด data center ในปี 2019 พบว่ามูลค่าตลาดของ public cloud อยู่ที่ 72% ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสัดส่วนของตลาดโลกซึ่งมีสัดส่วนของ public cloud ที่ราว 80% แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของตลาด public cloud ของไทยที่ยังมีอยู่มากในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางตลาดที่คาดว่าอัตราการเติบโตของ public cloud จะสูงกว่า colocation
ความท้าทายของธุรกิจ data center
แม้ว่าธุรกิจ data center จะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตามอง ทั้งประเด็นด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูงและการแข่งขันจากผู้เล่นต่างประเทศ โดยลักษณะของธุรกิจซึ่งจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการทำงานของเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ ส่งผลให้มีเงินลงทุนเริ่มต้นในช่วงแรกและต้นทุนคงที่ (fixed cost) สูง เนื่องจากต้องมีการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคาร, งานระบบ, ตู้ rack, พนักงานดูแล รวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับให้บริการลูกค้า
ขณะเดียวกันการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของผู้ให้บริการจากต่างประเทศถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามองและอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงตลาดโดยใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการบริการที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันได้ รวมถึงการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีงบประมาณการลงทุนสูง โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่มีแผนขยายตลาดในไทย ได้แก่ STT-GDC ที่จับมือกับกลุ่ม Fraser, Huawei, NTT, Supernap, Tencent cloud และ KT Corporation เป็นต้น
อย่างไรก็ดี EIC เสนอว่า เงินลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง และการแข่งขันจากผู้เล่นต่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวเพื่อรักษาอัตราการเติบโตและเพิ่มอัตราการทำกำไรให้ดีขึ้นในอนาคต เช่น
- นำ modular data center เข้ามาประยุกต์ใช้
- เน้นการให้บริการ public cloud
- ร่วมมือทางธุรกิจกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อก่อให้เกิดการประสานกำลัง (synergy) ของการให้บริการ
โดยสรุป EIC มองว่า ธุรกิจ Data center ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจแห่งอนาคตที่น่าจับตามองและมีทิศทางเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งจากความต้องการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคผู้บริโภค ภาคองค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ให้บริการ ทั้งในแง่การเติบโตของรายได้และอัตราทำกำไรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยท้าทายในด้านเงินลงทุนเริ่มต้นที่สูง และการเข้ามาแข่งขันของบริษัทต่างชาติส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัจจัยดังกล่าวต่อไป
ที่มา: SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา