S&P ปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะการทำร้าน และโปรโมชันสำหรับเดลิเวอรี แม้สุดท้ายรายได้ 6 เดือนแรกของปี 2021 จะลดลง 9% จากปี 2020 แต่บริษัทกลับพลิกมีกำไรสุทธิ ไม่ขาดทุนเหมือนปีก่อน ทำไม S&P ถึงทำได้?
คุมค่าใช้จ่าย ลุยซื้อกลับบ้าน-เดลิเวอรี
บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หรือ S&P รายงานผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2021 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 2,214 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 9% เนื่องจากโรค COVID-19 ยังระบาดต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายหน้าร้าน และซื้อกลับบ้านลดลงทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าสายการบินไม่สั่งของเหมือนเดิม
แต่ด้วยการปรับตัวเช่นลดค่าใช้จ่ายประจำทั้งการขาย และเจ้าหน้าที่, การเจรจาค่าเช่าหน้าร้าน และการออกสินค้าใหม่ที่เน้นเรื่องกำไรเป็นหลัก ทำให้สุดท้าย S&P มีกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 78 ล้านบาท ถือเป็นการพลิกเป็นกำไรสุทธิได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ S&P ยังส่ง DelTa หรือ Delivery & Take Away กลยุทธ์การทำหน้าร้านใหม่ที่ขนาดเล็ก ตอบโจทย์ส่งถึงบ้าน และซื้อกลับบ้าน รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชัน 1344 เพื่อยกระดับการขายผ่านช่องทางดังกล่าว จนสิ้นครึ่งแรกปี 2021 ทาง S&P มียอดขายในประเทศจากซื้อกลับบ้าน 73% เดลิเวอรี 15% และรับประทานในร้าน 11%
เจาะกลยุทธ์ร้าน DelTa ของ S&P
หากเจาะไปที่การใช้กลยุทธ์เปิดร้านแบบ DelTa ของ S&P จะพบว่า S&P วางแผนตั้งหน้าร้านแบบนี้ในคอมมิวนิตี้มอลล์, สถานีบริการน้ำมัน หรือปั๊ม และไฮเปอร์มาร์เก็ต นิยามเป็นร้านเบเกอรีที่สะดวกซื้อ และมีครัวขนาดเล็กอยู่ภายใน ใช้เงินลงทุน 1.5-3 ล้านบาท ขนาดร้านมากกว่า 90 ตร.ม. ขึ้นไป
S&P ตั้งเป้าหมายรายได้สาขา DelTa ไว้ที่ 1.2-1.8 ล้านบาท/ร้าน/เดือน โดยจะเปิดหน้าร้านแบบนี้ 31 แห่งภายในปี 2021 ครอบคลุมการเดลิเวอรีทั่วพื้นที่กรุงเทพ และจะเพิ่มเมนูใหม่ที่ตอบโจทย์เดลิเวอรีโดยเฉพาะเพื่อจำหน่ายผ่านหน้าร้านดังกล่าว สิ้น 6 เดือนแรกมีหน้าร้าน DelTa แล้ว 11 แห่ง
นอกจากทำร้านใหม่แล้ว S&P มีแผนนำสาขาที่เปิดให้บริการอยู่มาปรับเป็นหน้าร้าน DelTa เช่นกัน อาทิ สาขา โลตัส วังหิน และ แม็กซ์ แวลู ประชาอุทิศ เพื่อตอบโจทย์การเดลิเวอรี และซื้อกลับบ้านมากขึ้น ทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการเป็นร้านขนาดใหญ่
ร้านอาหารไทย และร้านเบเกอรี อันดับหนึ่ง
เป้าหมายของ S&P ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะต้องการเป็นร้านอาหารไทย กับร้านเบเกอรี อันดับหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้น S&P มีแผนเสริมแกร่งจุดแข็งเดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยในครึ่งหลังของปี 2021 จะมีแผนการตลาดทั้งตลาดนัดออนไลน์ และสินค้าใหม่เช่น ชุดอาหารพร้อมปรุง และกาแฟบรรจุขวดใหญ่
จากกลยุทธ์ดังกล่าว เบื้องต้น S&P ต้องการเพิ่มยอดขายเดลิเวอรีขึ้นเท่าตัว, สร้างฐานลูกค้าใหม่ และคงความแข็งแกร่งในตลาดต่าง ๆ ไว้ เช่นเบอร์หนึ่งเรื่องเค้กวันเกิด โดยทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นภายในครึ่งหลังของปี 2021 ซึ่งค่อนข้างท้าทาย เพราะโรค COVID-19 ยังระบาด และการแข่งขันในตลาดเดลิเวอรีค่อนข้างสูง
หนึ่งในจุดที่น่าสนใจของกลยุทธ์ดังกล่าวคือ S&P จะเปลี่ยนสินค้าที่จำหน่ายตามเทศกาล และโอกาสพิเศษ เป็นสินค้าที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน รวมถึงการนำเมนูอาหารเช้าอุ่นร้อนพร้อมทานมาจำหน่ายอีกครั้ง และการออกแบบเมนูเครื่องดื่มให้คุ้มค่าในการซื้อ หรือ Value for Money
ลุ้นไตรมาส 3 ขนมไหว้พระจันทร์ ขับเคลื่อนรายได้
สำหรับในไตรมาส 3 วันสำคัญนอกจากวันแม่ที่ช่วยเพิ่มยอดขายเค้กวันแม่ให้ S&P ยังมีเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ช่วยขับเคลื่อนยอดขายขนมไหว้พระจันทร์ของ S&P และเป็นหนึ่งในยอดขายสำคัญของช่วงไตรมาส 3 ทุกปีเช่นกัน โดยนอกจากจะจำหน่ายเองแล้ว S&P ยังมีรายได้จากการรับผลิตขนมไหว้พระจันทร์ให้กับคู่ค้าด้วย
นอกจากนี้ขนมไหว้พระจันทร์ยังเป็นสินค้าที่มีส่วนต่างกำไรค่อนข้างสูง ตรงตามกลยุทธ์ของ S&P ที่พยายามทำตลาดสินค้าที่เน้นผลกำไร เพื่อคุ้มค่าในการทำตลาด แต่ด้วย S&P มีแผนยกระดับอาหาร หรือขนมตามเทศกาลมาจำหน่ายในช่วงเวลาปกติ ก็น่าสนใจว่า ขนมไหวพระจันทร์ในอนาคตจำหน่ายได้ดีในช่วงเวลาอื่นหรือไม่
ที่เห็นชัดเจนว่า S&P รับผลิดขนมไหว้พระจันทร์ให้คือ Starbucks เพราะหลังบรรจุภัณฑ์มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าผลิตโดย บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท และทาง S&P มีการปรับเปลี่ยนขนมไหว้พระจันทร์ให้มีรสชาติที่แตกต่างจากในอดีต เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เช่นรส Orange Chocolate Lava และรสหมูฮ่องเต้ซอส XO เป็นต้น
สรุป
S&P ต้องพยายามปรับตัว เพราะปกติรายได้หลักมาจากการขายอาหารเพื่อรับประทานในร้าน และซื้อกลับบ้าน ยิ่ง COVID-19 ยังระบาดไม่หยุดในประเทศไทย การจะอยู่เฉย ๆ คงไม่ได้ และเพื่อคงเป้าหมายร้านอาหารไทย และร้านเบเกอรี อันดับหนึ่ง การตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เริ่มมีบทบาทในการจับจ่ายมากขึ้นก็จำเป็น
อ้างอิง // OppDay
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา