ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.43 แสนล้านบาท กระทบสถานการณ์ค่าเงินบาท ทรุดตัว 10.2% หนักสุดในเอเชีย
ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 2556
ไทยกำลังจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3.43 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2% ของ GDP จากการประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ไทยจะมีรายได้จากการค้าและบริการกับต่างประเทศน้อยกว่ารายจ่าย เม็ดเงินมหาศาลจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาทกำลังไหลออกนอกประเทศ
ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่น่ากังวลเพราะในอีกด้านหนึ่ง ไทยกำลังเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณคิดเป็น 10% ของ GDP ในช่วงเวลา 1 ปี ไปจนถึงเดือนกันยายนที่จะถึง
สถานการณ์โควิดย่ำแย่ นักท่องเที่ยวหดหาย กระทบรายได้ภาคการท่องเที่ยว
ประเทศไทยต้องเจอกับการขาดดุลการค้าและบริการอย่างหนัก เพราะรายได้จากต่างชาติที่มาจากภาคการท่องเที่ยวหดหายไป ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเพียง 34,000 คน ไม่ถึง 1% เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาดที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 39 ล้านคน
เมื่อรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งแต่เดิมเคยเป็นรายได้ถึง 1 ใน 10 ของประเทศ หายไปมหาศาลทำให้ไทยต้องเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แถมส่วนหนึ่งยังกระทบค่าเงินบาทเพราะความต้องการแลกเงินบาทลดลงอีกด้วย
2 ขาดดุล หนุนค่าเงินบาททรุดตัวหนักสุดในเอเชีย
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณซ้ำเติมค่าเงินบาทที่กำลังย่ำแย่ จนกลายเป็นค่าเงินที่ร่วงลงหนักสุดในเอเชีย
สถานการณ์ของค่าเงินบาทเรียกได้ว่าไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะในปีนี้มูลค่าร่วงลงมากว่า 10.2% ทรุดตัวหนักสุดในเอเชีย แถมยังเป็นการร่วงที่แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 จนตอนนี้เงินบาทถูกซื้อขายกันอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการรวบรวมข้อมูลของ Bloomberg
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุเองว่าอาจมีการทรุดตัวหรือผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มเติมจากปัจจัยภายในประเทศ
ที่มา – The Straits Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา