ขยะติดเชื้อในไทยเพิ่ม 2 เท่า ผลจากวิกฤตโควิดระบาด ต้นทุนการจัดการเกือบพันล้านบาทต่อปี

ปริมาณขยะติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด ปัญหาที่เป็นเงาตามตัว ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเกือบ 1 พันล้านบาทต่อปี

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ขยะติดเชื้อในไทยเพิ่ม 2 เท่า ผลพวงจากวิกฤตโควิดระบาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปริมาณขยะติดเชื้อในปี 2564 จะอยู่ที่ 61.3 ล้านกิโลกรัม นับว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เป็นสถานการณ์ปกติ โควิด-19 ยังไม่ระบาด จากที่แต่เดิมขยะติดเชื้อในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มสถานบริการทางการแพทย์ ทั้งรัฐ และเอกชน

ปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่านี้ คาดการณ์ว่าจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการกว่า 920 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดจากความจำเป็นในการป้องกัน และดูแลสุภาพของประชาชน ขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน และอาจช่วยลดค่าเสียโอกาสจากการเจ็บป่วยของโรคได้บ้าง

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองไปที่ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และปัญหามลภาวะจากฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่ๆ อาจทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แนวทางการจัดการขยะติดเชื้อของต่างประเทศ

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ แนวทางในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อจะทำอย่างไร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ยกตัวอย่างแนวทางในการจัดการกับขยะติดเชื้อในต่างประเทศ ทั้งในจีน และสหรัฐฯ ดังนี้

แนวทางบริหารจัดการกับขยะติดเชื้อของจีน

    • สร้างโรงเผาขยะติดเชื้อเพิ่มในบางพื้นที่ เช่น อู่ฮั่น หรือมีการดัดแปลงโรงจัดการขยะเดิมเพื่อจัดการจัดขยะติดเชื้อ
    • กำหนดให้ตั้งถังขยะพิเศษในชุมชนทุกแห่ง และออกข้อกำหนดให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพับใส่ถุงพลาสติกและทิ้งลงในถังขยะพิเศษสีแดงเท่านั้น
    • ติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดที่ทิ้งขยะ เพื่อบันทึกตลอดเวลา
    • ออกมาตรการลงโทษหรือปรับเงินผู้ที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติเกี่ยวกับการทิ้งขยะติดเชื้อไม่ถูกวิธีในบางพื้นที่ เช่น เซี่ยงไฮ้

แนวทางบริหารจัดการกับขยะติดเชื้อของสหรัฐฯ

    • การสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้ประชาชนแยกขยะติดเชื้ ออย่างถูกวิธี
    • พนักงานเก็บขยะและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ เช่น ถุงมือ เสื้อผ้าที่รัดกุม และเฟซชิลด์ เพื่อลดความเสี่ยงจากขยะติดเชื้อที่มาจากภาคครัวเรือน

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา