อาหารแห้งและอาหารแปรรูปในเวียดนามยอดขายพุ่งสูงช่วงสถานการณ์โควิด แต่ล่าสุดต้องเจอกับภาวะสินค้าขาดตลาดเพราะแรงงานติดเชื้อโควิด จนกระทบกับการขนส่งวัตถุดิบและการผลิตสินค้า
แรงงานไม่เพียงพอ ทั้งในโรงงานและบริษัทขนส่ง
หนึ่งในนโยบายของภาครัฐเวียดนามสำหรับการป้องกันการติดเชื้อโควิดในภาคอุตสาหกรรม คือ การใช้โมเดล “3 on-site” ซึ่งหมายความว่าให้พนักงานทำงาน กินข้าว และนอนหลับ ณ ที่ทำงานโดยไม่ต้องเดินทางกลับบ้าน โดยคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเหมือนเดิม
ทว่า โมเดลดังกล่าวทำสำเร็จแค่บางบริษัทเท่านั้น แต่กลับสร้างผลเสียให้ธุรกิจมากกว่า ซึ่ง Kajiwara Junichi ผู้จัดการทั่วไปของ Acecook Vietnam Co อธิบายว่า “การใช้โมเดลดังกล่าวทำให้ผลผลิตของเราลดลง เพราะพนักงานมาทำงานได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น”
อีกทั้ง พาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทขนส่งของ Acecook ก็มีการติดเชื้อโควิดอีกด้วย ส่งผลกระทบให้ส่งสินค้าระหว่างคลังสินค้าแต่ละแห่ง รวมส่งสินค้าถึงผู้จัดจำหน่าย เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้ช้าลงอย่างมาก
วัตถุดิบขาดตลาด ไม่มีต้นหอมใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การแพร่เชื้อของโควิดก็ส่งผลกระทบต่อการขนส่งวัตถุดิบเช่นเดียวกัน บริษัทผลิตอาหารแปรรูปหลายรายจำเป็นต้องเลิกผลิตสินค้าบางประเภทชั่วคราวเพราะขาดวัตถุดิบสำคัญ
ฟาร์มต้นหอม ในจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า (Bà Rịa – Vũng Tàu) เป็นตัวอย่างที่ดี ปกติผู้ประกอบการจะเช่ารถกระบะตามฤดูกาลเพื่อเข้ามาซื้อต้นหอมที่จังหวัดนี้และนำไปขายให้โรงงานในนครโฮจิมินห์ แต่ว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถเช่ารถและเดินทางข้ามจังหวัดในสถานการณ์โควิดได้ ทำให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาดแคลนต้นหอม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องปรุงบะหมี่ และทำให้ผลผลิตลดลงตามลำดับ
ขอความร่วมมือจากภาครัฐ
ในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐลดหย่อนข้อบังคับทางส่วนผสมที่จดทะเบียนไว้ เช่น การทดแทนวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงรสบางชนิดที่ขาดแคลนด้วยวัตถุดิบที่หาได้ โดยคงมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคไว้
ในกรณีของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้ผลิตสามารถลดปริมาณของต้นหอมหรือพริกไทยในซองได้ตามวัตถุดิบที่มีในคลัง หากไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบเพิ่มได้จริงๆ
หากจะต้องทำตามขั้นตอนขออนุญาตปกติคงจะใช้เวลานานเกิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตแพกเกจจิ้งใหม่สูงเกินไป ทางผู้ผลิตจึงพยายามขอใช้วิธีส่งรายงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน และสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นกรณีพิเศษ
อีกทั้งยังสนับสนุนให้รัฐบาลช่วยวิเคราะห์ตลาดผู้บริโภค และกระตุ้นให้ภาคเกษตรกรรมในจังหวัดต่างๆ เพิ่มผลผลิตหากคาดว่าจะขาดตลาด และช่วยพัฒนาเครือข่ายการขนส่งอีกด้วย
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเวียดนาม
Acecook เป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปแนวหน้าของเวียดนาม และเป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยสัดส่วนตลาดกว่า 43% ในปี 2017 รวมๆ แล้ว Acecook, Masan Consumer และ Asian Food ครองตลาดร่วมกันกว่า 70%
ในปี 2020 ที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกว่า 7 พันล้านซองถูกบริโภคในเวียดนาม ทำให้เวียดนามเป็นตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังเพียงจีนและอินโดนีเซียเท่านั้น
สรุป
ในฐานะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแนวหน้าของโลก เวียดนามต้องหาวิธีผลิตสินค้าแบบต่อเนื่องให้ได้ ถึงแม้จะขาดแคลนวัตถุดิบก็ตาม แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมที่ต้องพึ่งพาอาหารแปรรูปเหล่านี้ในยุคโควิด
- Nissin เผย โรค COVID-19 ช่วยฟื้นธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศจีนให้เติบโตอีกครั้ง
- ศึกษาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 590 ล้านซองในเมียนมา หลัง Nissin ส่ง Wah-Lah แข่งแบรนด์ไทย
ที่มา – VNS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา