DHL ปรับกลยุทธ์การขนส่งในภูมิภาคอาเซียน เน้นใช้การขนส่งทางถนน ทดแทนเรือ และเครื่องบิน มีข้อดีที่ราคาถูกกว่า ไม่ผันผวน แถมลดการปล่อยมลพิษได้เกินครึ่ง
ปัจจุบัน e-Commerce กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” โดยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้น เราจึงเห็น e-Commerce หลายหลายเติบโตอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น Amazon ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ที่สร้างยอดขายแซงหน้า Walmart บริษัทค้าปลีกเพื่อนร่วมชาติไปได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือหากเป็น e-Commerce ใกล้ตัวคนไทย ก็ต้องเป็น Shopee ที่ Sea Group ผู้เป็นบริษัทแม่ รายงานว่า Shopee สามารถสร้างรายได้กว่า 1,155.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38,500 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 160% ด้วยยอดขาย 1,400 ล้านออเดอร์
เมื่อ e-Commerce เติบโต อีกธุรกิจหนึ่งที่จะโตตามไปด้วยคือ “ธุรกิจขนส่ง” ที่ DHL ให้ข้อมูลว่า การขนส่งสินค้าในเอเชียมีแนวโน้มเติบโต 13.2% โดยเฉพาะการตลาดการขนส่งสินค้าทางถนนของอาเซียนจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นกว่า 8% ภายในปี 2563-2568
ทำไม DHL เห็นแนวโน้มการเติบโตของการขนส่งทางถนน
โทมัส ทีเบอร์ ซีอีโอ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการเติบโตของการขนส่งทางถนนในอาเซียน ว่า “การขนส่งทางถนนเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า และยั่งยืน”
โดยเมื่อปีที่แล้วปัญหาอย่างหนึ่งที่ธุรกิจขนส่งต้องเจอคือ อัตราค่าขนส่งทางอากาศ และทางทะเลมีความผันผวนมากจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ในขณะที่การขนส่งทางถนน หรือการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะมีราคาที่ดีกว่าการขนส่งทางอากาศอย่างมาก แถมการเข้าถึงชายแดนระหว่างประเทศในภูมืภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้ยังทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
การขนส่งทางถนน มีข้อดีเหนือการขนส่งทางทะเล และเครื่องบิน
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการขนส่งทางถนน ทางอากาศ และทางทะเล จะพบว่า การขนส่งทางถนนมีราคาถูกกว่า และปล่อยมลพิษน้อยกว่าการขนส่งทางอากาศเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันหากเทียบกับการขนส่งทางทะเล การขนส่งทางถนนก็จะมีความปลอดภัยกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า นอกจากนี้การขนส่งทางถนนยังเป็นการขนส่งที่มีความคล่องตัวสูง เพราะรถบรรทุกสามารถส่งสินค้าได้ข้ามพรมแดน ครอบคลุมทั้งในระยะใกล้ และไกล
ในด้านการปล่อยมลพิษ การขนส่งทางถนนปล่อยมลพิษที่น้อยกว่าการขนส่งทางอากาศ DHL ยกตัวอย่างการขนส่งที่ใช้ทั้งการขนส่งทางอากาศ ผสมกับการขนส่งทางถนน ระหว่างจาการ์ตาไปยังกรุงเทพฯ โดยผ่านสิงคโปร์ จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ครึ่งหนึ่ง และประหยัดต้นทุนได้ 35% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศเพียงอย่างเดียว
ในขณะที่การขนส่งสินค้าทางถนนจากสิงคโปร์ไปยังจีน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 83% เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ
ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา