เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังน่าห่วง เติบโตเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า
EIC เผย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก โดยทาง EIC ระบุว่านี่คือตัวเลขที่สูงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพราะเป็นการเติบโตจากฐานเดิมที่ต่ำกว่าปกติ
สิ่งที่น่าสนใจและสะท้อนภาพสถานการณ์ปัจจุบันคือ ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ที่เติบโตได้เพียง 0.4% ที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจมีแรงส่งน้อย ที่สำคัญนี่คือการเติบโตจากไตรมาสแรกที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย 0.2% เช่นกัน
แต่ที่ต้องจับตาก็คือแม้เศรษฐกิจจะยังเติบโตเป็นบวกแต่ EIC ย้ำชัดว่านี่คือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอ (Uneven) หรือก็คือเติบโตไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วนทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือบางส่วนเติบโตได้แต่บางส่วนก็ติดลบ และเมื่อเจาะเข้าไปดูเชิงลึกก็ยิ่งน่ากังวล เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังโตได้ด้วยเม็ดเงินจากต่างประเทศและการอัดฉีดจากรัฐบาล ส่วนภาคเอกชนเข้าสู่สภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อย
เม็ดเงินจากต่างชาติ-ภาครัฐ ค้ำยันเศรษฐกิจ ส่วนเอกชนไปต่อไม่ไหว
เม็ดเงินจากต่างประเทศคือปัจจัยสำคัญที่ยังประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยล้มลง ในช่วงไตรมาส 2 การส่งออกสามารถเติบโตได้ 6.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะตอนนี้สถานการณ์ในต่างประเทศเริ่มดีขึ้นทำการค้าโลกเริ่มกลับมาสดใสอีกครั้ง ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในภาคส่งออกดีขึ้น
เม็ดเงินจากภาครัฐคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยค้ำยันเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคภาครัฐที่เติบโตขึ้น 1.2% และการลงทุนภาครัฐที่เติบโตขึ้น 3.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ไปจนถึงการออกนโยบายเยียวยาต่างๆ เช่น ม.33 เรารักกัน และ เราชนะ ซึ่งถูกบันทึกอยู่ในส่วนการบริโภคภาคเอกชน
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ภาคเอกชนเข้าสู่สภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อย การบริโภคและการลงทุนลดลงแบบ QoQ ลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง
- การบริโภคภาคเอกชน หดตัว -2.5%
- การลงทุนภาคเอกชน หดตัว -2.5%
ชัดเจนว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังทรงตัวได้เพราะเม็ดเงินจากต่างประเทศและภาครัฐเป็นสำคัญ ส่วนภาคเอกชนเข้าสู่สภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อย
ครึ่งปีหลังของเศรษฐกิจไทยปี 2564
ภาพรวมเศรษฐกิจหลังจากนี้ EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะเติบโตที่ 0.9% โดยจะยังทรุดตัวในไตรมาส 3 ต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน
EIC ระบุว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังคงมีความเสี่ยงหลายประการ
- การระบาดระลอกปัจจุบันที่มีโอกาสปรับตัวแย่กว่าคาด
- การฉีดวัคซีนล่าช้า
- การปิดโรงงาน
- มาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจน้อยกว่าคาด
- การกลายพันธุ์ของไวรัสใหม่ๆ
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา