ปี 2023 ก็ยังขายวัคซีนโควิดได้
บริษัทวัคซีนเจ้าดังอย่าง Pfizer และ Moderna จ่อโกยรายได้เพิ่มเติมอีกมหาศาลในช่วง 2 ปีข้างหน้า จากการขายวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shot) โดยทั้งสองบริษัทจะมีรายรับรวมกันกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท จากการขายวัคซีนทั้งเข็มหลักและเข็มกระตุ้นในปี 2021 และ 2022
ไม่เพียงแค่นั้น นักวิเคราะห์ยังคาดกันว่าทั้งสองบริษัทจะยังสามารถทำรายได้ต่อไปในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทวัคซีนเจ้าอื่นจะเข้ามาในตลาดมากยิ่งขึ้น โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการขายวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นหลัก
- คาดกันว่า Pfizer และ BionNTect จะขายวัคซีนได้ 6.6 พันล้านดอลลาร์ (2.2 แสนล้านบาท)
- คาดกันว่า Moderna จะขายวัคซีนได้ 7.6 พันล้านดอลลาร์ (2.54 แสนล้านบาท)
สายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก ใครๆ ก็พูดถึงเข็มกระตุ้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้รายได้ของบริษัทวัคซีนยังคงเติบโตต่อไปคือการที่หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงการวัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์จนมีความสามารถในการระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิม
ผู้ผลิตวัคซีนระบุว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าแอนติบอดี้ที่ได้จากการฉีดวัคซีนจะเริ่มลดลงหลังจากฉีดวัคซีนครบ 6 เดือน และเมื่อผนวกเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่าหลายๆ ประเทศเริ่มเผชิญกับสายพันธุ์ที่ระบาดได้รวดเร็วอย่างเดลต้า ความต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
ตอนนี้ หลายประเทศเริ่มทำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะในประชากรสูงอายุและประชากรผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเพื่อรับมือการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ยกตัวอย่างเช่น ชิลี เยอรมนี และ อิสราเอล
ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ก็เพิ่งอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีน Pfizer และ Moderna ในกลุ่มประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
เห็นได้ชัดว่าตอนนี้หลายๆ ประเทศเริ่มพูดถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นกันมากขึ้น และสิ่งที่จะส่งผลบวกต่อตลาดวัคซีนต่อไปในอนาคตหลังจากนี้คือการประกาศใช้วัคซีนกระตุ้นในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทวัคซีนได้อีกมาก
ที่มา – Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา